ป่วยโควิด-19 ในปี 2568 ต้องทำอย่างไรบ้าง ? อาการและข้อปฏิบัติต้องรู้
โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราตลอดไปเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ เปิดอาการโควิดล่าสุด และข้อปฏิบัติหากสงสัยว่าป่วย และ มาตรการกักตัวและการรักษาตัวที่บ้าน ?
โควิด-19 แน่นอนว่า หลายคนรู้จักและคุ้นเคยดี เพราะสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่รุนแรงมากๆได้หายไปพักใหญ่ แต่ล่าสุดปี 2568 ด้วยปัจจัยหลังเทศกาลสงกรานต์ และ หน้าฝน ทำให้โควิด 19 กลับระบาดเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2568 อยู่ที่ ประมาณ ราว 220,000 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 52 ราย ซึ่งถึงแม้อาการจะไม่รุนแรง แต่ยังมีผู้ป่วยและเสียชีวิตอยู่ วันนี้ พีพีทีวีออนไลน์ จะอัปเดตข้อมูลและทำอย่างไรหากต้องติดโควิดในยุค 2568 นี้

จากข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่าสถานการณ์ โควิด-19 ในไทยขณะนี้เป็น สายพันธุ์ โอมิครอน XEC ซึ่ง สายพันธุ์ลูกผสมตัวใหม่ในตระกูลโอมิครอน พบครั้งแรกที่เยอรมนี มิ.ย. 2567 เกิดจากการรวมกันของ 2 สายพันธุ์ย่อย: KS.1.1 (FLiRT) และ KP.3.3 (FLuQE) แพร่เร็วขึ้นจากการกลายพันธุ์หลายจุด พบแล้วในอย่างน้อย 15 ประเทศ รวมถึงยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย มีการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วกว่า 550 ตัวอย่างจาก 27 ประเทศ
จากข้อมูลในสหรัฐฯ อังกฤษ และจีนXEC แพร่เร็วกว่าโอมิครอนตัวอื่นถึง 84–110%บางประเทศมี XEC มากถึง 10–20% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่
อาการของ XEC
- ไข้ ไอ เจ็บคอ
- เหนื่อยง่าย ปวดหัว ปวดตัว
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- สูญเสียการรับกลิ่น/รส
- เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน
ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนครบหรือเคยติดเชื้อมาก่อน มักมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หรือภาวะหายใจล้มเหลว
ข้อปฏิบัติหากสงสัยป่วยโควิด
กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า กรณีเกิดการเจ็บป่วย หรือ สงสัยว่าเป็นโควิด-19 ควรปฏิบัติ
- หากมีอาการสงสัย หรือ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที
- หากผลการตรวจเป็นบวก ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว หากจำเป็นต้องออกจากที่พัก ขอให้เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- กรณีที่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ โดยที่อาการไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถตรวจ ATK ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ หากจำเป็น จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการ
- งดหรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 หากไม่สามารถหลีกเลี่ยง จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ควรตรวจ ATK เมื่อไร?
หากมีเชื้อโควิดในร่างกายไม่มาก การตรวจโควิดด้วย ATK อาจไม่พบเชื้อ ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่สบาย เช่น เจ็บคอมาก มีไข้ต่ำ ๆ ควรหมั่นตรวจ ATK เรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ หากอาการป่วยรุนแรงขึ้นก็ควรไปพบแพทย์และเข้ากระบวนการรักษาอย่างเหมาะสม
โควิด 2568 กี่วันหาย
จะหายป่วยโควิดเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องจำนวนเชื้อและสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค
ซึ่งการกักตัวอย่างน้อย 5 วันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สามารถลดโอกาสแพร่เชื้อได้ หรือถ้าเป็นไปได้ควรกักตัวสัก 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการป่วย และตรวจ ATK แล้วเป็นลบ จึงกลับออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ขณะที่ในบางคนอาจหลงเหลืออาการอยู่เล็กน้อย เช่น หายโควิดแต่ยังไอ นั่นเป็นเพียงการอักเสบของอวัยวะที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในภายหลัง
วิธีรักษาโควิดที่บ้าน
ข้อมูลจากประกาศของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านเหมือนผู้ป่วยนอกทั่วไป โดยผู้ป่วยควรกักตัวที่บ้านอย่างน้อย 5 วัน เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังผู้อื่น และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
สำหรับวิธีรักษาโควิดที่บ้านตามแนวทางปัจจุบันยังคงเป็นการรักษาตามอาการที่ปรากฏ เช่น รับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้ ใช้ยาแก้ไอเมื่อมีอาการไอ เป็นต้น ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ยกเว้นว่ามีอาการทรุดหนักลง หายใจลำบาก เช่นนี้ควรรีบกลับไปพบแพทย์
การป้องกันโควิดในปัจจุบัน
- สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดหรือมีคนหนาแน่น
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า โดยไม่จำเป็น
- เว้นระยะห่างทางสังคม ในที่สาธารณะ
- ตรวจ ATK หากมีอาการเข้าข่าย
- พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค และ ศูนย์ข้อมูล COVID-19