ไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาจำเพาะ แนะวิธีป้องกันลดความรุนแรง!
ไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะ ไม่มียารักษาเฉพาะ ติดเชื้อซ้ำอาการรุนแรง แพทย์แนะวัคซีนช่วยลดความรุนแรง ป้องกันยุงและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยโรคนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาตามอาการเท่านั้น ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ หากเคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ การติดเชื้อซ้ำมักส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นกว่าครั้งแรก

ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงช่วยลดความรุนแรงของโรคหากเกิดการติดเชื้อซ้ำ
กลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออก
- เด็ก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากพวกเขายังไม่สามารถป้องกันตนเองจากยุงลายได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าผู้ปกครองจะพยายามดูแลอย่างใกล้ชิด แต่มักไม่สามารถป้องกันยุงกัดได้ตลอดเวลา
- วัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงาน ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะในเขตเมือง มีความเสี่ยงติดเชื้อไข้เลือดออกจากการเดินทางหรือสถานที่ทำงาน
- ผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันที่ลดลงตามอายุและโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ทำให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้เลือดออกมากที่สุด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจากไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นโรคร้ายที่ระบาดทุกปี และอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้โดยไม่เลือกวัย แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ แต่ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อขึ้นมาอีกด้วย ปกป้องตัวคุณเองและคนที่คุณรักด้วยการฉีดวัคซีนไข้เลือดตั้งแต่วันนี้ ก่อนจะสายเกินไป
วัคซีนไข้เลือดออก ป้องกันได้แค่ไหน ?
วัคซีนไข้เลือดออก Qdenga มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูง โดยสามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึง 80% และลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลได้มากถึง 90% ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำว่าต้องฉีดกระตุ้นเพิ่มในภายหลัง อีกทั้งวัคซีน ยังผ่านการศึกษาทดลองในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองความปลอดภัย โดยมีการใช้งานแล้วในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และฉีดให้กับผู้คน พบว่าอาการข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้เล็กน้อย (พบเพียง 10%) มักหายเองใน 2-3 วัน เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น
ฉีดวัคซีนได้เมื่อไร? หากเพิ่งหายจากไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้ โดยครั้งที่สองมีโอกาสรุนแรงมากขึ้น หากคุณเพิ่งหายจากโรค แนะนำให้เว้นระยะ 6 เดือน ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ขณะที่คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงป่วยไข้เลือดออกรุนแรงมากกว่าคนปกติถึง 2-4 เท่า ดังนั้นจึงยิ่งควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน โดยปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด
- ไข้สูงเฉียบพลัน 39-40 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือปวดท้อง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจมีผื่นแดง จุดเลือดออกตามผิวหนัง
- ในรายที่รุนแรง อาจเกิดภาวะ “ไข้เลือดออกชนิดช็อก” (Dengue Shock Syndrome) ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยและการรักษา
- โรคไข้เลือดออกไม่มี “ยารักษาเฉพาะทาง” แพทย์จึงให้การรักษาแบบประคับประคอง และเน้นการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ดังนี้:
- การให้สารน้ำอย่างเหมาะสม
- เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำหรือช็อกจากการรั่วของพลาสมา
- การลดไข้โดยหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน
- ใช้ยาพาราเซตามอลแทน เพราะแอสไพรินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือดออก
- การติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3–7 ซึ่งเป็นช่วงเสี่ยงต่อภาวะรุนแรง
การป้องกันไข้เลือดออก
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะน้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำแจกันทุกสัปดาห์ และใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขัง
- ป้องกันการถูกยุงกัด ด้วยการทายากันยุง ใส่เสื้อแขนยาว ใช้มุ้ง และติดตาข่ายกันยุง
- รณรงค์ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด เก็บขยะให้เรียบร้อย และเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2 และ โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลก