โรคหลอดเลือดสมองใน "เด็ก" ชักเกร็งกระตุก พ่อแม่ควรระวัง!
โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก เป็นโรคที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย สำหรับอาการในเด็กแรกเกิด มีได้ทั้งจากสมองขาดเลือดและสมองมีเลือดออก ทั้งนี้อาการของโรคนี้สามารถแสดงออกมาตั้งแต่วันแรกที่ลูกน้อยคลอด หรืออาจแสดงออกมาในช่วงอายุ 6-9 เดือนก็ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการ ความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนดูแลพัฒนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที
"โรคหลอดเลือดสมอง" อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
โควิด-19 ใน"เด็ก" ติดเชื้อ-หลังหายป่วย ยังมีเรื่องต้องระวัง
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองในทารก
สาเหตุความผิดปกตินั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงภาวะโรคหัวใจด้วย ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุในแต่ละรายเพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุด
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
การวินิจฉัยในนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากเด็กจะสื่อสารได้ยาก จึงต้องอาศัยการสังเกตอาการจากคุณพ่อคุณแม่ การชักประวัติจากทางครอบครัว
- เด็กทารกนั้นอาการส่วนใหญ่เกินร้อยละ 90 มักจะมาด้วยอาการชัก โดยมักจะเป็นอาการชักเฉพาะที่ข้างใดข้างหนึ่ง
- ทารกบางคนจะมีอาการซึม ไม่ดูดนมร่วมด้วย
- ในเด็กโตขึ้นอาจจะมาด้วยพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า หรือมีแขนขา ด้านใดด้านหนึ่งอ่อนแรง เด็กโตยิ่งโตขึ้นก็จะสามารถบอกอาการได้มากขึ้น อาจจะมีหน้าหรือปากเบี้ยว จะสามารถหากลูกน้อยมีอาการดังกล่าว คุณพ่อ คุณแม่ ควรรีบพาลูกส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมองในทารก สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. Ischemic stroke หรือภาวะสมองขาดเลือด ในทารกมักจะพบจากภาวะสมองขาดเลือดชนิดนี้บ่อยที่สุด คือประมาณร้อยละ 80 ของภาวะสมองขาดเลือด โดยพบอุบัติการณ์ของโรคคือ 1 ต่อ 3,500 ในทารกเกิดใหม่ ความรุนแรงของภาวะนี้ คือทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนต้นทางมีการตีบแคบลงหรือถูกอุดกั้น ทำให้เลือดไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงสมองส่วนปลายได้
ปัจจัยเสี่ยงพบได้จากทั้งมารดา ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุ ความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะน้ำคร่ำติดเชื้อ น้ำคร่ำน้อย ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด หรือความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ หรือปัจจัยเสี่ยงจากทารก เช่น ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะสมองอ็อกซิเจน หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยตำแหน่งที่เป็นสาเหตุมักเป็นความผิดปกติจากหัวใจและหลอดเลือดบริเวณคอ
2.Hemorrhagic Stroke หรือเส้นเลือดสมองแตก โดยพบอุบัติการณ์ของโรคคือ 1 ต่อ 6,300 ในทารกเกิดใหม่ มักเกิดจากการบาดเจ็บกับเส้นเลือดสมองโดยตรง จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นทารกคลอดก่อนกำหนด อุบัติเหตุ หรือเส้นเลือดบริเวณนั้นผิดปกติ ทำให้มีเลือดมาไหลเวียนอยู่มากและเปราะบางเสี่ยงแตกได้ง่ายกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มโรคเลือดอื่นๆ
“โรคหลอดเลือดสมอง” รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลความพิการ
แพทย์แนะวิธีลดความเสี่ยง “หลอดเลือดสมองโป่งพอง” ภัยเงียบคร่าชีวิต
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางในการรักษานั้น แพทย์จะพิจารณา 3 วิธีด้วยกัน คือ
1.รักษาโดยการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาต้านเกร็ดเลือด การรักษาโดยการใช้ยาเหล่านี้ โดยตัวยาจะช่วยละลายลิ่มเลือดและต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เส้นเลือดในสมองไม่ตีบตัน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาใช้ตามข้อบ่งชี้
2.รักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาใช้ตามข้อบ่งชี้เมื่อมีความดันในกระโหลกศีรษะสูง ไม่ว่าจะเป็นจากก้อนเลือดในสมองใหญ่มาก ซึ่งเด็กมักจะมีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตามแพทย์จะมีการประเมินความเสี่ยงก่อนทำการผ่าตัด
3.รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด การทำกายภาพบำบัดจะทำควบคู่ไปกับการรักษาเสมอ เพื่อให้มีโอกาสกลับมาหายเป็นปกติได้เพิ่มมากขึ้นอีก
โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก เป็นโรคที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เสมอ ซึ่งคุณสามารถป้องกันได้ด้วยการสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยเป็นประจำและรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวน้อย
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท