หายห่วง! โลกมีวัคซีนป้องกัน "ฝีดาษลิง" แนะ 6 ข้อ ช่วยให้ห่างไกลโรค
ฝีดาษลิง ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่มีวัคซีนป้องกันการเกิดโรค ช่วยควบคุมการระบาดได้
โรคฝีดาษลิง (monkeypox) เกิดจากไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85%
ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่า "ปลูกฝี" ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าผู้ที่เลยได้รับวัคซีน
อนุทิน คอนเฟิร์ม เชื้อจากนทท.ต่างชาติ ไม่ใช่ฝีดาษลิง แต่เป็นโรคเริม
"ฝีดาษลิง" โรคติดต่อจากสัตว์ รู้ชัด "แพร่เชื้อ -ติดต่อ" ผ่านทางไหนบ้าง
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรค เผยว่า ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยหรือผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิงในประเทศเลย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นหลัก
การประเมินความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย
มีโอกาสพบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย เช่น ไนจีเรีย สหราชอาณาจักรอังกฤษ แคนาดา สเปน โปรตุเกส
การรักษา
- ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ
- รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir , Tecovirimat, brincidofovir
วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า นอกจากวัคซีนเก่า (ACAM2000) ที่เคยใช้ได้ผลดีเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยวิธีการที่เรียกว่าปลูกฝีคือ หยดวัคซีนหรือหนองฝีลงไป แล้วสะกิด
พบว่ามีวัคซีนชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่การหยดแล้วสะกิด แต่เป็นการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) ไม่ใช่การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal) ที่ผลิตสำเร็จและใช้อยู่ก่อนแล้วเป็นของบริษัทเดนมาร์กและได้รับการรับรองจากอย.สหรัฐอเมริกา (USFDA)
รายละเอียดของวัคซีน
- วัคซีนชื่อการค้า JYNNEOS
- ผลิตโดยบริษัท Bavarian Nordic A/S ของเดนมาร์ก
- เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ MVA-BN : Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic
- ขั้นตอนการผลิต เลี้ยงไวรัสในเซลล์ไข่ไก่ฟัก (CEF : Chicken Embryo Fibroblast)
- ฉีด 2 เข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ห่างกัน 28 วัน
- ขนาดที่ฉีด 0.5 CC
- ฉีดในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ แดง เจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการร้อน คัน และอาจปวดเมื่อยได้
- วัคซีนได้ผลดี กระตุ้นทั้งระบบน้ำเหลือง (Humoral) และระบบเซลล์ (Cellular)
- ป้องกันได้ทั้งโรคฝีดาษคนและฝีดาษลิง
- กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าวัคซีนแบบเดิมถึงสองเท่าคือ 152.8 GMT(PRNT) เทียบกับของเดิม 84.4 GMT
ส่วนวัคซีนใหม่นี้ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่เป็นวัคซีนใหม่จึงต้องศึกษาต่อไปว่า ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเพียงใด
ฝีดาษลิง ป่วยแล้ว 344 ราย สนามบินไทยคัดกรองเข้ม นทท.จากประเทศเสี่ยง
อนามัยโลกเตือน “ฝีดาษลิง” อาจระบาดเป็นวงกว้าง
การป้องกันเบื้องต้น มีดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
5.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
6.หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ
ในกรณีที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก กรมควบคุมโรค, ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย