ผู้หญิงควรสังเกต อาการบ่งชี้และสัญญาณเตือน "มะเร็ง"
มะเร็งในผู้หญิงบางอาการอาจสังเกตได้ยาก เพราะความซับซ้อนของอวัยวะภายใน หากรู้สัญญาณเตือนที่พบบ่อย อาจช่วยให้รู้ทันโรคพบแพทย์ได้ไวมากขึ้น
โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเพศหญิงที่ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมากและเด่นชัดในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งอวัยวะภายในก็มีความซับซ้อนและต้องได้รับการดูแลมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาการบางอย่าง เช่น ปวดท้อง ที่ผู้หญิงมักเป็นตอนมีประจำเดือนอยู่แล้ว จึงอาจทำให้คิดไม่ถึงว่า อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งอย่างหนึ่ง
รู้จัก "มะเร็ง" ให้มากขึ้น สาเหตุก่อโรค ชนิดใดพบได้บ่อยที่สุดใน "ชาย - หญิง"
รู้จักโรค NCDs โรคที่คุณสร้างมันขึ้นมาเองทุกวันๆ
ต้องหมั่นสังเกต...ก่อนเกิดโรค
หลายคนมักคิดว่า “กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องเข้าสู่ระยะร้ายแรงและรักษายากแล้ว” ซึ่งไม่จริงเสมอไป! เพราะหากเราหมั่นสังเกตและดูแลร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี ทันทีที่พบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัยแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย ก็จะทำให้สามารถพบรอยโรคในระยะแรกๆ ได้ ซึ่งโอกาสในการรักษาหายก็จะสูงตามไปด้วย
มะเร็งชนิดใด และอาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง
มะเร็งเต้านม
- มะเร็งเต้านม ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมะเร็งในสตรี อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าจะตรวจพบด้วยแมมโมแกรม แต่คุณผู้หญิงอาจสังเกตความผิดปกติต่างๆ ได้ด้วยตัวเองก่อน เช่น
- คลำพบก้อนบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
- เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
- ระคายเคืองบริเวณผิวหน้าอก มีผื่นคันบริเวณเต้านม
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
- มีแผลที่บริเวณหัวนม
- มีอาการเจ็บที่เต้านม แม้ไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน
- มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
มะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาจไม่ค่อยมีใครทราบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงเช่นกัน อาการของโรคในระยะเริ่มต้นอาจยังไม่แสดงอาการ แต่จะมีความผิดปกติเมื่อโรคพัฒนาขึ้น ดังนี้
- ขับถ่ายผิดปกติ ท้องเสียสลับท้องผูก หรือท้องอืดบ่อยๆ
- ลักษณะอุจจาระเรียวยาวกว่าปกติ
- อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก
- อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อยๆ
- รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน
- ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
- มีภาวะโลหิตจาง
มะเร็งตับ
- มะเร็งตับในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการแสดง ต่อเมื่อโรคลุกลามหรือเป็นหนักขึ้นผู้ป่วยจึงสังเกตได้ ทั้งนี้คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือมีตับแข็งจากทุกสาเหตุ ควรตรวจคัดกรองแม้ยังไม่มีอาการใดๆ แต่อาการที่พอจะสังเกตได้คือ
- ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือบริเวณลิ้นปี่
- ท้องบวมโตขึ้น มีน้ำในช่องท้อง
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
- อาเจียนเป็นเลือด
มะเร็งปากมดลูก
- ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) มะเร็งปากมดลูกเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่พบมาก สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง แม้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้ มะเร็งปากมดลูกถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิง ฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติดังนี้ ควรรีบพบแพทย์
- มีเลือดไหลออกจากช่องอย่างผิดปกติ อาจมีเลือดออกหลังระยะที่เพิ่งหมดประจำเดือน หรือมีเลือดออกในผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว
- มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ
- มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาวที่มีลักษณะเป็นน้ำและข้น มีเลือดปน
- ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ไม่ใช่ปวดประจำเดือน
มะเร็งปอด
- หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า “มะเร็งปอด” จะเป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงมากจนติดอันดับเช่นกัน ที่สำคัญยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากทีเดียว อาการของโรคจะเริ่มปรากฏเมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว
- มีอาการหอบ เหนื่อย
- หายใจผิดปกติ หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
- ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกตลอดเวลา
- เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย
- เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเติบโตผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป อาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วย
- รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีภาวะซีด อ่อนเพลียง่าย
- มีเลือดออกง่าย เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีเกล็ดเลือดต่ำ
- มีไข้ หนาวสั่น
- เหงื่ออกมากตอนกลางคืน
- มีรอยฟกช้ำได้ง่าย
- ปวดกระดูกและข้อ
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย
จะเห็นได้ว่ามะเร็งในแต่ละอวัยวะนั้น มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ดังนั้นสาวๆ จึงไม่ควรชะล่าใจว่าตนเองยังปลอดภัยจากโรคมะเร็ง ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพและ “การตรวจคัดกรองมะเร็ง” ที่สำคัญอีกอย่าง คือการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรรีบพบแพทย์
อาหารหมักดองตัวการร้าย สร้าง "มะเร็งหลังโพรงจมูก"
สารสกัด "กัญชา" อีกหนึ่งยาความหวังรักษาโรคมะเร็ง
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท