โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น รู้ทันป้องกันหัก
โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวจนกว่าจะเกิดการแตกหักของกระดูก เช็กปัจจัยเสี่ยงและป้องกันได้
ปัจจุบันโรคกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็น “ภัยเงียบ” อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่พบว่ามีอาการใด ๆ จนกระทั่งล้มแล้วมี “กระดูกหัก” จึงรู้ว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน” สาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกเปราะ หักง่าย
ดื่มน้ำน้อยไปสุขภาพกายพัง "สูงอายุ- ป่วยเรื้อรัง" อันตรายถึงชีวิต
ท้องผูกบ่อย ๆ เรื่องใหญ่กว่าที่คิด ลองปรับชีวิตประจำวันก่อนกินยา
บางคนอาจตัวเตี้ยลง (มากกว่า 3 เซนติเมตร) เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบางและยุบตัวลงช้า ๆ หรือบางคนมีอาการปวดหลังจากการล้มหรือยกของหนัก
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเพียงแค่มีแรงกระแทกเบา ๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอ จาม หรือลื่นล้ม ทำให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหักได้ง่าย ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง
รู้หรือไม่…
- ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1 ล้านคน
- คนไทยประมาณร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ไม่ทราบว่าโรคกระดูกพรุนรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
ความเสี่ยงเมื่อกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน
- 20% มักเสียชีวิตภายใน 1 ปี
- 30% พิการถาวร
- 40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน
- 80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อนกระดูกหัก
- กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ควรป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุนทันทีเมื่อทราบ
รู้จักโรคกระดูกพรุน
แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัย และพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้
"อัมพาตหน้าครึ่งซีก" โรคใกล้ตัว จากความผิดปกติของเส้นประสาท
สมุนไพรฤทธิ์เผ็ดร้อน - ผักผลไม้วิตามินซีสูง เสริมภูมิบรรเทาหวัด
ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน
- เพศ ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40 – 50%
- อายุ มวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ
- ผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 10 คน ใน 100 คน
- ผู้หญิงอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 20 คน ใน 100 คน
- ผู้หญิงอายุเกิน 80 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 40 คน ใน 100 คน
- กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย
- เชื้อชาติ ชาวต่างชาติที่มีผิวขาวและคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง
- ยา การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานานทำให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรค SLE (โรคพุ่มพวง)ยาทดแทนธัยรอยด์ ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
- เคยกระดูกหัก โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เท่า
- แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น
- บุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่
- ผอมเกินไป คนที่ผอมเกินไปจะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า และมีความเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น 2 เท่าของคนรูปร่างปกติ
- ขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
- ขาดการออกกำลังกาย คนไม่ออกกำลังกายมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า พบว่า ผู้หญิงที่นั่งมากกว่า 9 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้หญิงที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันถึง 50%
- การรับประทานอาหาร ถ้าได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชา/วัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้ว/วัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋อง/สัปดาห์ และทานโปรตีนมากกว่า 10 – 15% ในแต่ละมื้อของอาหาร มีความเสี่ยงกระดูกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและคาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย
อ้วนมาก น้ำหนักเกิน สัญญาณเตือนเสี่ยง “โรคมะเร็ง”
เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อาการนี้ โรคหรือไม่ใช่โรค
วัยทองกับโรคกระดูกพรุน
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีเนื้อกระดูกน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 10 – 30% และเมื่อหมดประจำเดือนจะมีการสลายของกระดูกมากถึงร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปหรือที่เรียกว่า “วัยทอง” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ทำให้เนื้อกระดูกเปราะบาง มีผลทำให้กระดูกหักได้ง่าย ๆ
อาการพบบ่อย
โรคกระดูกพรุน ได้ชื่อว่าเป็น “มฤตยูเงียบ” เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อกระดูกหักเสียแล้ว ส่วนอาการที่พบได้คือปวดหลัง ซึ่งเกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีกระดูกสันหลังยุบตัว และจะทำให้หลังค่อมและเตี้ยลงได้ นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว กระดูกอื่น ๆ ที่ถูกทำลายมาก คือ ข้อมือและสะโพก
ป้องกันกระดูกพรุนคนวัยทอง
ผู้หญิงในวัยทองควรดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ ควรลดความเครียด รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง ถั่วแดง ผักคะน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสารหลักในการสร้างเนื้อกระดูก ทั้งนี้ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน การเสริมแคลเซียมไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรง แต่ช่วยยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกเท่านั้น
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้ด้วย นอกจากนี้ควรงดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และพยายามป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้ม เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล