ไขความลับของชีส หลังกระแส “ชีสบอร์ด” มาแรงติดเทรนด์โซเชียล
ชีสบอร์ดเมนูฮิตของคนโซเชียล เมื่อพูดถึงชีสก็นึกถึงไขมันร้ายทำลายสุขภาพ แต่ผลวิจัยหลายชิ้นกลับพบว่าชีสอุดมไปด้วยสารอาหาร ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด
“ชีสบอร์ด” เมนูกินเล่นที่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เพราะด้วยความสนุกของการมิกซ์ส่วนผสมของผู้คนบนโลกโซเชียลที่ต่างเอามาโชว์กัน ทำเอาบน Tiktok เมื่อไม่นานมานี้มีผู้คนคลิกเข้าไปชมมากถึง 519 ล้านครั้ง และหลายๆ ร้านค้า ทั้งรายเล็กรายใหญ่ทำเมนูนี้ออกมาขายกันมากขึ้น
ชีสบอร์ด เป็นวัฒนธรรมการกินที่มีต้นกำเนิดมาจากชาวตะวันตก ที่จะนำชีสกับเนื้อสัตว์แปรรูปมาจัดบนบอร์ด เพื่อเสิร์ฟให้กับแขกผู้มาเยือน ด้วยความง่ายในการจัดเตรียม และรสชาติที่อร่อย เมนูนี้จึงเป็นที่นิยมในอดีตที่ผ่านมา
เทียบกันชัดๆ นม 7 ประเภท อะไรดีต่อสุขภาพ-เหมาะกับเรามากที่สุด
“ขนมปัง” ของหาง่ายกินได้ทุกวัน ไฟเบอร์สูงทางออกคนมีปัญหาเรื่องลำไส้
แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป มีเมนูใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ชีสบอร์ดจึงกลายเป็นเมนูสุดคลาสสิคที่หลายคนรู้จัก แต่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งมาถึงตอนนี้
เชื่อว่าตอนนี้หลายคนที่อยากกิน หรือใครที่ได้กินกันไปแล้วจนติดใจ อยากจะกินอีก คงอยากรู้แล้วว่าถ้ากินไปแล้ว เมนูนี้จะทำให้อ้วนไหม ดีต่อสุขภาพหรือเปล่า เพราะเมื่อพูดถึงชีสต่างก็รู้สึกว่าเป็นอาหารไขมันสูง แต่จะจริงหรือไม่นั้น ลองมาดูผลการวิจัยกัน
ชีสมีประโยชน์กับสุขภาพมากจนคาดไม่ถึง
ชีสเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยจะเห็นได้จากเมนูยอดนิยม เช่น แซนด์วิช สลัด หรือพิซซ่า ต่างก็มีชีสเป็นส่วนประกอบ เพราะชีสช่วยยกระดับการทำอาหาร ด้วยรสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัสและสีสัน จึงถูกใจผู้บริโภคหลายๆ คน
แม้ชีสจะเป็นอาหารที่มีโซเดียมและไขมันสูง ซึ่งนับเป็นข้อควรระวังอย่างหนึ่งที่เราควรจะจำกัดการกินชีสให้เหมาะสม แต่ความจริงแล้วมีประโยชน์กับสุขภาพมากจนคาดไม่ถึง เพราะชีสมีทั้งโปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และวิตามินบี 12 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาหารที่ควรรับประทานเพื่อสร้างความสมดุลในร่างกาย
รักษากระดูกให้แข็งแรง
คำถามที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ คือ แล้วถ้าเรากินเข้าไปทุกวันจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง มีผลการวิจัยบอกว่า ชีสจะทำให้เราได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น เพราะชีสส่วนใหญ่จะอุดมไปด้วยแคลเซียม แต่ชีสเนื้อแข็งมักจะมีแคลเซียมมากกว่า
แคลเซียมเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการรักษากระดูกให้แข็งแรง แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการไหลเวียนเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ซึ่งในแต่ละวันผู้มีอายุระหว่าง 19-50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
การกินชีสที่อุดมไปด้วยแคลเซียม จึงช่วยทำให้เราได้รับปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันได้ และตามรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติในปี 2020 ที่เผยแพร่ใน Food Science & Nutrition ก็แนะนำว่าการกินชีสที่มีแคลเซียมสูง อาจป้องกันโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวานชนิดที่สองได้ด้วย
ดูแลลำไส้ให้แข็งแรง
แม้ว่าโยเกิร์ตจะมีโปรไบโอติกสูง ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ช่วยให้ลำไส้แข็งแรงขึ้น แต่ชีสบางชนิด เช่น ชีสสวิส เชดดา คอทเทจชีส เกาดา อิดัม และกูรแยร์ ก็มีโปรไบโอติกเช่นกัน
การกินชีสสดๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการทำไปปรุงอาหาร จะดีที่สุด เพราะความร้อนสามารถทำลายโปรไบโอติกได้
ป้องกันปัญหาฟันผุ
น่าตกใจมากว่าการกินชีสส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากของเราด้วย เพราะการมีโปรไบโอติกในชีสส่งผลดีต่อแบคทีเรียและสารภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ชีสจะไปกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลาย ลดความเสี่ยงของอาการปากแห้งและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงแนวโน้มของฟันผุ โรคเหงือก แผลในปาก การเคี้ยวและกลืนลำบาก
ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือด
บทความใน Frontiers in Nutrition ปี 2022 ระบุว่า ชีสมีไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ประมาณ 60% แม้ว่าไขมันอิ่มตัวจะเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ แต่การค้นพบนี้ก็ไม่สามารถสรุปเป็นภาพรวมได้ เพราะไขมันอิ่มตัวมีหลายประเภท และไม่ใช่ทุกชนิดที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
ขณะที่ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition ปี 2018 ซึ่งติดตามชาวอเมริกันเกือบ 3,000 คน เป็นเวลา 22 ปี พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่ทำจากนมกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ
เพราะจากการวัดระดับกรดไขมันจำเพาะในเลือดของผู้เข้าร่วมทั้งหมด เช่น กรดเฮปตาเดคาโนอิก (Heptadecanoic) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่สะท้อนถึงการบริโภคนม พบว่ายิ่งระดับกรดเฮปตาเดคาโนอิกสูง อัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคหัวใจหรือหลอดเลือดในสมองจะยิ่งลดลง
นอกจากนี้ การศึกษาอื่นในปี 2018 ที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ยังพบผลลัพธ์ที่คล้ายกันด้วยว่า ผู้ที่กินนมสดที่ไม่ได้แยกเอาไขมันนมออก (Whole-fat dairy) เช่น ชีส (Whole-fat Cheese) มากกว่า 2 มื้อต่อวัน ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจลดลง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่เลือกกินผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ (Low-fat dairy) ร่วมกับนมสดที่ไม่ได้แยกเอาไขมันออก (Whole-fat dairy)
มีโซเดียมแฝง
ถ้ามองในด้านความปลอดภัยของอาหาร ด้วยการผลิตชีสให้เก็บเอาไว้ได้นาน โซเดียมจะถูกเติมเข้าไปเพื่อลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราที่อาจทำให้เกิดการเน่าเสีย ซึ่งการบริโภคมากๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจได้
โดยข้อมูลของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) ระบุไว้ว่า ในแต่ละวันเราควรจะกินโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน และควรได้รับน้อยกว่า 1,500 มิลลิกรัม ถึงจะช่วยรักษาความดันโลหิตและทำหัวใจให้แข็งแรงได้
แต่ใช่ว่าการกินชีสจะทำให้โซเดียมเกิน เพราะชีสบางชนิด เช่น เชดดาร์ มอสซาเรลลา และชีสสวิส จะมีโซเดียมต่ำกว่าชนิดอื่นๆ เช่น เชดดาร์ชีส 1 ชิ้น มีโซเดียมประมาณ 183 มิลลิกรัม ซึ่งคิดเป็น 8% ของขีดจำกัดโซเดียมของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม แม้ในผลิตภัณฑ์ชนิดเดียว ปริมาณโซเดียมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบฉลากข้อมูลโภชนาการสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์
แพ้แลคโตสอาจไม่ใช่ปัญหา
ใครที่แพ้แลคโตส (Lactose) อาจต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม แม้ว่าชีสจะทำมาจากนมก็ตาม แต่ความบทความที่ตีพิมพ์ใน Journal of Translational ระบุว่า ชีสบางชนิด อย่างชีสเนื้อแข็งจะมีแลคโตสต่ำมาก ซึ่งผู้ที่แพ้แลคโตสอาจกินได้
กินชีสอย่างไรให้สุขภาพดี
จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ตีพิมพ์ในปี 2022 แสดงให้เห็นว่า การกินชีสและโยเกิร์ตในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยป้องกันโรคกัวใจได้ โดยทั่วไปแล้ว ชีสมอสซาเรลลา เชดดาร์ ชีสสวิส และคอทเทจชีส เป็นชีทประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ชีสทุกชนิดสามารถเป็นส่วนประกอบในมื้ออาหารของเราได้หมด ตราบใดที่กินในปริมาณที่พอเหมาะ
จำนวนที่แนะนำให้บริโภคแต่ละวันอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุและการใช้พลังงานของเรา เช่น ถ้าเรากิน 2,000 แคลอรีทุกวัน แนะนำให้กินชีสดังต่อไปนี้
- ชีสแข็ง เช่น เชดดา มอสซาเรลลา สวิส และพาร์มีซาน ปริมาณ 1.5 ออนซ์
- ชีสขูกฝอย 2.67 ออนซ์
- ชีสแปรรูป (อเมริกัน) 1 ออนซ์
- ชีสริคอตต้า 4 ออนซ์
- คอทเทจชีส 16 ออนซ์
ถ้าเราไม่ได้แพ้โปรตีนจากนม การกินชีสทุกวันก็ไม่เป็นอะไร ชีสไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แต่ยังเป็นตัวเติมเต็มให้จานอาหารของเราอร่อยมากขึ้นด้วย แต่สิ่งสำคัญคือต้องกินในปริมาณที่พอเหมาะ จะดีที่สุด
“โยเกิร์ต-นมเปรี้ยว”เสริมภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี้ป้องกันไวรัส
คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบแนวทางจัดหาวัคซีนโควิดปี 66 สำรองให้คนละ 1-2 โดส
ขอบคุณข้อมูลจาก : Eatingwell