อย่าเพิ่งเชื่อ! ถ้ายังไม่รู้ความลับของ “ไอศกรีม” หลังพบกินรสชาติที่ชอบลดเสี่ยงโรคหัวใจ
อย่าเพิ่งเชื่อถ้ายังไม่รู้ความลับของไอศครีม หลังมีผลการศึกษาพบกินรสชาติที่ชอบ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 12%
คนรักไอศกรีมทั่วโลกคงจะดีใจเมื่อบทความล่าสุด แนะนำว่า การได้ดื่มด่ำกับรสชาติที่ชอบอาจดีต่อสุขภาพ!
ข้อความดังกล่าวนี้ ดึงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในปี 2018 ซึ่งบอกว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่บริโภคไอศกรีมมากกว่าผู้ป่วยโรคเดียวกัน มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจลดลง
ฟังดูน่าตื่นเต้น แต่ที่จริงแล้วการกินไอศกรีมรสชาติอะไรก็ได้ที่เราชอบ จะดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ วันนี้เราได้รวบรวมคำตอบมาฝากกัน
"Sorbet" เปิดตำนานไอศกรีมเก่าแก่ กินได้กินดีไม่มีอ้วน
คิดสูตรไอศกรีมรสหม่าล่า รับกรุ๊ปทัวร์จีน
ผลการวิจัยในปี 2018 เป็นการศึกษาเชิงสังเกตทีดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2519 และ 2529 ก่อนจะดำเนินต่อไปอีกประมาณ 20 ปี โดยตั้งเป้าหมายของการศึกษาเอาไว้ว่า “เพื่อติดตามสุขภาพผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นระยะเวลานาน และการค้นพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างโรคบางชนิดกับปัจจัยการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร หรือไม่”
รวบรวมข้อมูลมาได้ทั้งหมดประมาณ 16,000 คน พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (เบาหวานที่เกิดจากการดื้อต่ออินซูลิน) ที่กินไอศกรีมไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลง 12% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้กินไอศกรีม
อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงแง่มุมอื่นๆ ของสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย เพราะอาจเป็นไปได้ว่าในตอนที่เก็บผลสำรวจนั้น กลุ่มตัวอย่างอาจรายงานว่าตัวเองกิจไอศกรีมก่อนเข้าร่วมการวิจัย แต่หลังจากเข้าร่วมวิจัยอาจหยุดกินไอศกรีมไปเลยทันที เพราะรู้ตัวว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
และการศึกษาเชิงสังเกต เป็นเพียงการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการกินไอศกรีมกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่ลดลงเท่านั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการกินไอศกรีมมีผลโดยตรงต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
“ไอศกรีม” ดีต่อสุขภาพหรือไม่ ?
น่าแปลกที่ไม่ค่อยมีการศึกษาถึงผลกระทบของไอศกรีมต่อสุขภาพ การศึกษาที่มีอยู่โดยปกติแล้วผู้เข้าร่วมจะบริโภคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือประมาณน้อยกว่า 1 ใน 4 ของหน่วยบริโภคต่อวัน ซึ่งหมายความว่ายังไม่เพียงพอที่จะพัฒนาเป็นข้อสรุปที่มีความหมายเกี่ยวกับผลกระทบของมัน
แต่การศึกษาในอิตาลีชิ้นหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคไอศกรีมมากขึ้นอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของไขมันพอกตับที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ) อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังพบว่ามีการเชื่อมโยงนี้กับอาหารอื่นๆ เช่น เนื้อแดง ซึ่งบ่งชี้ว่าคุณภาพของอาหารโดยรวมของบุคคลนั้นอาจมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่าอาหารเฉพาะอย่าง
อย่างไรก็ตาม ไอศกรีมถือเป็นอาหารแปรรูปพิเศษ ซึ่งหมายความว่า ด้วยวิธีการแปรรูปที่ใช้ในการผลิตไอศกรีม โดยทั่วไป ส่งผลให้ไอศกรีมมีทั้งแคลอรี ไขมัน และน้ำตาลสูงมาก
อาหารแปรรูปพิเศษมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายประการ รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด
หลักเกณฑ์ด้านโภชนาการยังคงสนับสนุนให้เราจำกัดการบริโภคน้ำตาลและไขมัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้มีแนวโน้มว่า “กินไอศกรีมมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ”
แต่อาจไม่ใช่ข่าวร้ายทั้งหมดหากคุณเป็นคนที่ชอบผลิตภัณฑ์จากนม เพราะมีหลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ที่เป็นไปได้ของไขมันจากนม ซึ่งมีมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีงานวิจัยที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นมหมัก เช่น โยเกิร์ตบางประเภท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีสอาจลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวานชนิดที่ 2
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าไอศกรีมอาจเกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์ที่คล้ายคลึงกันหรือไม่ เนื่องจากมีปริมาณไขมันจากนม
การวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า อาหารที่มีแคลเซียมสูง มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหัวใจ แต่ยังมีอาหารอื่นๆ อีกมากมาย เช่น นม และถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียมเช่นกัน แต่นมและถั่วนั้น มีประโยชน์ทางโภชนาการโดยที่ไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลให้กับร่างกาย ในขณะที่ไอศกรีมนั้นให้ปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า
แม้ว่าการเห็นพาดหัวการวิจัยบอกว่า อาหารโปรดของเราอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นก็จริง แต่การวิเคราะห์การวิจัยก็เป็นสิ่งสำคัญ บ่อยครั้งผลกระทบของอาหารชนิดหนึ่งสามารถเกินจริงได้เนื่องจากข้อผิดพลาดของวิธีการวิจัย หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น อาหารหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้เข้าร่วม
ในขณะนี้เราไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพดีพอที่จะแนะนำว่า ไอศกรีมมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน แต่สองสามส่วนเล็กๆ ต่อสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย ไม่น่าจะส่งผลเสียมากนัก
กรมอนามัยแนะวิธีเลือกซื้อ "ไอศกรีม" ทานแบบไหน ลดเสี่ยงน้ำหนักเพิ่ม
อย่าหาทำ! กินไข่ดิบตามดราม่าทำไอศกรีมไข่แข็งในร้านหมูกระทะ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย