"พริกขี้หนู" สรรพคุณทางยา ช่วยเจริญอาหาร ลดไขมันเลว คุมน้ำหนักได้
พริกขี้หนู หนึ่งในพืชผักสวนครัวยอดนิยม เผยประโยชน์ที่น่าทึ่ง! จิ๋วแต่แจ๋วของจริง ถึงจะแพงขึ้นแต่ประโยชน์ไม่ลดเลย แนะวิธีปลูกไว้กินง่ายๆ พื้นที่น้อยก็ปลูกได้!
เล็กพริกขี้หนู มักใช้เป็น คำชมเปรียบเทียบ คนที่ตัวเล็กแต่มีความสามารถมาก มากกว่าที่เห็น แม้ขณะนี้กำลังประสบปัญหาปรับราคาขึ้นสูง แต่ก็ยังเป็นที่นิยมและนับเป็นพืชผักที่ใช้ง่าย หลากหลายเมนูเพิ่มความเผ็ดร้อน ชูรสให้กับอาหารจานโปรด ทั้งใส่ลงไปทั้งเม็ด (ลูกโดด) หรือ สับลงไป ก็ได้เหมือนกัน อีกทั้งหากให้พูดถึงสรรพคุณทางยาแล้วก็สูงริบไม่แพ้กัน วันนี้ทีมข่าวได้รวบคุมประโยชน์และสรรพคุณทางยาให้คุณผู้อ่านได้รู้จัก เจ้าพริกขี้หนู ที่จิ๋วแต่แจ๋ว กินโดนทีต้องมีสะดุ้งกันบ้างนะคะ
พริกขี้หนูสวนขาดตลาด ราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์ กิโลละ 500 บาท
“น้ำพริก”เมนูเพิ่มการกินผักแบบไม่ฝืน เลือกโปรตีนถูกประโยชน์มากกว่า!
รู้จักพริกขี้หนู
ต้นพริกขี้หนู มีชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ ถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อน โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 1-3 ปี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนระบายน้ำดี ในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค
ขณะที่ตัวพริกขี้หนู มีลักษณะยาวรี ปลายผลแหลม ออกในลักษณะหัวลิ่มลง ยาวแค่ 2-3 ซม. ผลเป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นส้มแดงหรือเป็นสีแดงปนสีน้ำตาล ภายในผลกลวงและมีแกนกลางมีเมล็ดเป็นสีเหลืองเกาะอยู่มาก
สรรพคุณทางยาของพริกขี้หนู
- มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณขับลม ทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ กัดเสมหะ ทำให้น้ำลายใส แก้ไอ เป็นต้น โดยหมอพื้นบ้านใช้รากพริกขี้หนู ฝนกับน้ำมะนาว แทรกด้วยเกลือ กวาดคอเด็ก แก้เสมหะและซาง
- ผลสุกนำมาปรุงเป็นอาหาร จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีสาร capsaicin
โดยมีวิจัยระบุว่า พริกขี้หนูสดขนาด 5 กรัม มีคุณสมบัติในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้และสามารถกระตุ้นการ หลั่งอินซูลินได้ผลการทดลองทางคลินิกพบว่า 50% ของผู้ใช้ capsaicin เป็นประจำ นาน 4 - 5 เดือน ในรูปครีมที่ใช้ทาภายนอกจะลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
- ช่วยเร่งการสันดาปและเร่งเมตาบอลิซึม เผาผลาญแคลอรี จึงทำให้น้ำหนักลด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันเลว (LDL) ได้
- ช่วยลดความโลหิตได้ เพราะทำให้หลอดเลือดอ่อนตัวและช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี มีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยสลายลิ่มเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือจากการเสียชีวิตจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เนื่องจากสารจำพวกเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มการยืดหดตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้ปรับเข้ากับแรงดันในระดับต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยทำให้อารมณ์ดี โดยสาร Capsaicin ที่มีอยู่ในพริกขี้หนูจะช่วยส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสาร Endorphin ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน คือ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
“พริกหวาน” วิตามินซีสูง ช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหาร ผ่อนคลายความเครียด
ข้อควรระวังในการกินพริกขี้หนู
- ผู้ที่มีอาการกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ที่เป็นวัณโรคหรือริดสีดวงทวาร ไม่ควรกินพริกขี้หนู
- หากเผลอรับประทานพริกหรือเด็กรับประทานพริกที่เผ็ดมากอย่างพริกขี้หนูเข้าไป ก็ให้ดื่มนมตาม เพราะในน้ำนมจะมีสาร Casein ที่ช่วยทำลายความเผ็ดลงได้
- การกินพริกมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแสบท้อง ทำให้หน้าเป็นสิวได้ และถ้าถูกพริกหรือจับพริกก็จะทำให้ผิวหนังเกิดอาการแสบร้อนได้
- สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเผ็ดเลย ให้กินอย่างระมัดระวังนะคะ
การปลูกพริกขี้หนูไว้กินเอง
- นำเมล็ดพริกมาแช่น้ำไว้ 1 คืน
- นำไปเพาะในกะบะเพาะชำ
- พอสูงขึ้นประมาณ 3-5 เซนติเมตร แข็งแรงดีแล้ว
- ให้ย้ายต้นพริกลงไปอยู่ในดินที่เตรียมไว้ได้เลย
หมายเหตุ พริกขี้หนูสวน มีขนาดเล็กกว่า พริกขี้หนูธรรมดา มีความเผ็ดและความหอมมากกว่าพริกขี้หนูธรรมดา นิยมนำมาทำน้ำพริกกะปิ กับแหนม สาคู ข้าวขาหมู ฯลฯ
ทั้งนี้ควรกินทุกอย่างแต่พอดี เน้นกินให้ชูรสเพิ่มความเผ็ดในแต่ละมื้ออาหาร เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ แนะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก,ห้องสมุดวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร และ ห้องสมุดประชาชนอำเภอฮอด
5 ผลไม้ฤดูฝน วิตามินซีสูง ต้านหวัดเสริมภูมิต้านทาน พ่วงใยอาหาร!
พืชโปรตีนสูง 10 อันดับ ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ไม่กินเนื้อก็มีโปรตีนได้!