สาเหตุ Covid Rebound ยังไม่แน่ชัด ป่วยไม่ได้รับยาต้านไวรัสก็เป็นได้
หมอไทยเปิดผลการศึกษา Covid Rebound (โควิด รีบาวด์) พบคนที่ติดเชื้อแม้จะไม่ได้รับยาต้านไวรัสก็มีโอกาสเป็นได้ ส่วนสาเหตุยังไม่แน่ชัด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เผยผลการศึกษาเกี่ยวกับ โควิด รีบาวด์และลองโควิดรายละเอียดดังนี้
การเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในคนติดเชื้อที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส
Deo R และคณะ จาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องการเป็นกลับซ้ำ (rebound) ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส (untreated COVID-19 patients)
“หมอมนูญ”ชี้โอมิครอน BA.5 อยู่ในช่วงขาขึ้น ฝีดาษลิงจะระบาดในไทยแน่นอน
รวมลิงก์ลงทะเบียนรักษาโควิด-19 จัดส่งยา "ฟรี" ไม่เสียค่าใช้จ่าย
สาระสำคัญคือ พบว่าผู้ที่ติดเชื้อจะมีอัตราการมีไวรัสกลับสูงขึ้น (viral rebound) หลังจาก 5 วันราว 12% หรือประมาณ 1 ใน 8 คน โดยปริมาณไวรัสที่กลับสูงขึ้นนั้น จะอยู่ในระดับสูงเกิน 100,000 ตัวต่อซีซี ราว 5%
ในขณะที่มีอัตราการเกิดอาการซ้ำขึ้นมา (symptom rebound) หลังจากอาการช่วงแรกดีขึ้น (initial improvement) ได้ราว 27% หรือสูงถึง 1 ใน 4
โดยพบคนที่มีอาการกลับซ้ำนั้นเกิดขึ้นหลังจากอาการช่วงแรกหายไป (initial symptom resolution) มีได้ราว 10%
อย่างไรก็ตาม การเกิดไวรัสกลับมาสูงขึ้นในระดับสูง ร่วมกับมีอาการกลับซ้ำขึ้นมาพร้อมกันนั้น เกิดได้น้อย ราว 2%
ผลการวิจัยนี้ ชี้ให้เราเห็นว่า คนที่ติดเชื้อแม้จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ก็มีโอกาสเกิด rebound ได้เช่นเดียวกันกับที่เราพบจากคนที่ได้ยาต้านไวรัส ดังนั้น หากติดเชื้อ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ (14 วันสำหรับ Omicron หรืออย่างน้อย 10 วัน โดยไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบ) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ
เหนืออื่นใด "การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ"เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันตัวเราและครอบครัวในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่เราจะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้
ผลวิจัยชี้ "ลองโควิด (Long COVID)" เพิ่มเสี่ยงความต้องการทางเพศลดลง
การปฏิบัติตัวหลังติดเชื้อไปแล้ว
ดังที่เราทราบกันดีจากผลการวิจัยทั่วโลก คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น จะเกิดปัญหา Long COVID ตามมาได้ โดยมีโอกาสได้ตั้งแต่ 5-30%
Long COVID นั้น มาในรูปแบบที่เป็นอาการผิดปกติคงค้างมาตั้งแต่ช่วงแรกและเรื้อรังต่อเนื่อง หรือจะมาในรูปแบบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ภายหลังจากที่รักษาการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้วเกิน 4 สัปดาห์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย โดยความรู้ปัจจุบันจำแนกกลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่ ระบบหัวใจและทางเดินหายใจ ระบบประสาท/อารมณ์/จิตเวช กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับหลายอวัยวะ และระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกิดปัญหาในระบบอื่นและกลายเป็นโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่
Long COVID เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง และเกิดได้ทุกเพศทุกวัย งานวิจัยต่างๆ พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และคนที่เคยติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงเสี่ยงกว่าคนมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
ดังนั้น หลังจากที่รักษาการติดเชื้อในระยะแรกเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงควรหมั่นสังเกต ตรวจตราสุขภาพของตัวเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และให้การดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อ การไปตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สมควรทำ
อ้างอิง
1. Deo R et al. Viral and Symptom Rebound in Untreated COVID-19 Infection. medRxiv. 2 August 2022.
2. Sidik SM. Heart disease after COVID: what the data say. Nature. 2 August 2022.
หมอเทียบปัญหา "ฝีดาษลิง-โควิด" มีโอกาสเป็น "การระบาดทั่วโลก" ใหญ่พอกัน
ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโควิดรีบอร์น ดังนี้
ติดโควิดได้รับยาต้านไวรัสไปแล้ว กลับมาใหม่อีก
การรายงานจากสหรัฐโดยวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2022 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงของโอมิครอน รักษาด้วย paxlovid 11,270 รายหรือรักษาด้วย molnupiravir 2,374 ราย ภายในระยะเวลาห้าวันหลังจากมีการติดเชื้อ การกลับมาใหม่ หรือ rebound มีสามลักษณะคือ
1.มีเชื้อกลับมาใหม่ จากการตรวจ
2.มีอาการกลับมาใหม่ ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อปวดหัว เจ็บคอ จมูกคัด น้ำมูกไหล ไม่รับรส กลิ่น อาเจียน ท้องเสีย ผื่น
3.ต้องเข้าโรงพยาบาล
ลักษณะที่กลับมาใหม่ไม่แตกต่างกันของการใช้ยา paxlovid หรือ molnupiravir
คนที่มีโรคประจำตัวจะมีการกลับมาใหม่มากกว่า
สำหรับ paxlovid ที่ 7 วัน และ 30 วัน
- ลักษณะที่หนึ่ง 3.53% และ 5.4%
- ลักษณะที่สอง 2.31 % และ 5.87%
- ลักษณะ ที่ สาม 0.44% และ 0.77%
สำหรับ molnupiravir ที่ 7 และ 30 วัน
- ลักษณะที่หนึ่ง 5.86% และ 8.59%
- ลักษณะที่สอง 3.75% และ 8.21%
- ลักษณะที่สาม 0.84% และ 1.39%
เมื่อดูผิวเผิน คล้ายกับการใช้ molnuvipavir จะมีการกลับมาใหม่มากกว่า แต่เมื่อวิเคราะห์ propensity score matching ซึ่งเป็นวิธีจัดการกับตัวแปรและปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือแม่นยำมากขึ้นในการระบุความเสี่ยงจะพบว่า ความเสี่ยงระหว่างการใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ไม่แตกต่างกันแต่ขึ้นกับภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้ติดเชื้อ มีโรคหัวใจ ความดันสูง มะเร็งโรคอัมพฤกษ์ โรคปอด โรคไตโรคตับ อ้วน เบาหวาน โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน การได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมถึงการให้ยาต้านภูมิคุ้มกัน และไม่เกี่ยวพันกับการได้รับวัคซีนหรือไม่
สาเหตุกลไกของการกลับมาใหม่ “ไม่ทราบแน่ชัด” แต่อาจเกี่ยวเนื่องกับการรักษาไม่สามารถกำจัดไวรัสไปได้อย่างหมดจด หรือไวรัสดื้อยา?
อย่างไรก็ตาม การให้ยาต้านไวรัสอย่างสมเหตุสมผลตามลักษณะของอาการที่เป็นมากขึ้น โดยในคนไทยที่ใช้ฟ้าทะลายโจรแล้วนั้น ไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาสองวัน มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนักมากขึ้นจนกระทั่งถึงต้องเข้าโรงพยาบาล
โควิดวันนี้ (3ส.ค.65) ติดเชื้อรายใหม่-เสียชีวิต-ป่วยปอดอักเสบ ยอดเพิ่มทุกอันดับ