“โรคหลอดเลือดสมอง” เช็กวิธีป้องกัน-สัญญาณเตือน รักษาเร็วห่างไกลอัมพาต
โรคที่พบได้บ่อยๆ และจัดเป็นภัยร้ายอันดับที่ 3 ของโลก คือ “โรคหลอดเลือดสมอง” เช็กวิธีป้องกันและสัญญาณเตือนที่นี่! เพราะถ้าสายเกินไป อาจเป็นอัมพาตได้
โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นภัยร้ายอันดับที่ 3 ของโลก เพราะมักไม่มีสัญญาณบอก กว่าจะรู้ตัวอีกที หากรักษาไม่ทันส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลือตามมา
โรคนี้แม้ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมาก เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย แต่คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ทั้งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแต่กำเนิด โรคประจำตัว อุบัติเหตุ หรือพฤติกรรมการชอบกินของทอดของมัน เป็นต้น
อย่าชะล่าใจ ! โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
5 สัญญาณ "อัมพฤกษ์ อัมพาต" รู้เร็วพบหมอไวรักษาได้ทันเวลา
ดังนั้นการรู้เท่าทัน และการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราห่างไกลจากโรคนี้ ซึ่ง นายแพทย์วัชรพงศ์ ชูศรี อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้
“โรคหลอดเลือดสมอง” คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่จะไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย อย่างไรก็ตามโดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดถูกทำลายก็จะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ จึงอาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมาได้ ดังนี้
สมองซีกซ้าย : อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา, ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน, สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง และ เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง
สมองซีกขวา : อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย, สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง, สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน และ เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง
แต่ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) อาจทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง หายใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหมดสติได้
ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.) ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke) พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด หรือจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นใน จนหนานูน แข็ง ทำให้ผนังหลอดเลือดด้านในค่อยๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง
2.) ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Haemorrhagic Stroke) ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย มักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะเเละโป่งพอง นอกจากนี้ สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
3.) ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack) มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค
ในปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
- อ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง
- การขาดการออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
“B.E.F.A.S.T.” สัญญาณเตือนโรค
อาการเตือนโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบมาพบแพทย์ เรามีวิธีเรียกและจำง่ายๆ ว่า “B.E.F.A.S.T”
B-Balance : มีอาการทรงตัวผิดปกติ เวียนศีรษะ บ้านหมุน และ เดินเซ
E-Eyes : มีปัญหาเรื่องการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพดับ ภาพมืด หรือภาพซ้อน
F-Face : มีความผิดปกติของใบหน้า เช่น ชา หรือมีอาการอ่อนแรงของใบหน้าครึ่งซีก
A-Arms : มีอาการอ่อนแรงบริเวณแขนขา หรือชาลำตัวครึ่งซีก
S-Speech : มีอาการพุดผิดปกติ เช่น พูดไม่ชัด พูดไม่ออก เป็นต้น
T-Time : เวลา ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมาโรงพยาบาล หรือมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 4.5 ชั่วโมง เพราะในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน การรักษาที่จะช่วยผู้ป่วยได้ คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ถ้าเลยจากนี้จะให้ยาดังกล่าวไม่ได้แล้ว เพราะมีความเสี่ยงของการแตกของผนังหลอดเลือด
วิธีการรักษา
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดในสมอง จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่ารุนแรงขนาดไหน ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะรักษาแบบใด แต่วิธีการรักษาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการให้ยา การกายภาพบำบัด การใช้ธาราบำบัด หรือ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนที่เสียหาย เรียกๆ สั้นว่า “TMS” เพื่อให้คนไข้กลับมามีแรงอีกครั้ง
ห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติ SMART ICU
ทางโรงพยาบาลกรุงเทพมีห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติโรคทางสมองและระบบประสาทโดยเฉพาะ ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในประเทศไทย เมื่อผู้ป้วยเข้ามารักษาตัวโรคหลอดเลือดสมองที่นี่ จะได้รับการรักษาจากคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ พร้อมกับมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถมอนิเตอร์ดูข้อมูลข้องผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเป็น “Smart ICU” ที่ช่วยให้การฟื้นตัวทางสมองเร็วขึ้น และยังป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น เสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางปอด โรคลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น
Smart ICU ของโรงพยาบาลกรุงเทพ
ห้องพักสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
หลังจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของโรงพยาบาลกรุงเทพที่ได้รับการดูแลในห้องไอซียู จนอาการดีขึ้นแล้ว จะถูกย้ายมาที่พักผู้ป่วยต่อ ซึ่งห้องพักของที่นี่จะแตกต่างจากห้องพักฟื้นทั่วไป คือ จะมีโถงกว้าง เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกเดินไปมาได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ดีไซน์ของทุกห้องจะถูกออกแบบมาให้มีแสงไฟเป็นวอร์มไลท์ ดีต่อสายตาของผู้ป่วย และมีส่วนของหน้าตาบานกว้าง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสดชื่นมากขึ้น สามารถแยกกลางวัน กลางคืนออกได้ เพราะโดยปกติด้วยโรคของเขา จะทำให้สับสนอยู่แล้ว การดีไซน์แบบนี้จะช่วยให้เขาฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ห้องพักสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของโรงพยาบาลกรุงเทพ
การป้องกันโรค
เพราะโรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต แต่หากตรวจพบเร็ว รักษาได้เร็ว มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้สูง ดังนั้นแล้วการหมั่นดูแลสุขภาพ กินของทอด ของมันอย่างพอดี และการตรวจสุขภาพประจำปีช่วยได้
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคอันตรายก็จริง แต่สามารถป้องกันได้ และเมื่อเป็นแล้ว เข้ามารับการรักษาได้ไว จะมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้สูง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือการป้องกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
เมื่อไหร่จะพูดได้? 5 วิธีช่วยฝึกพูดให้ผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง”