ฮ่องกงชี้โอมิครอน BA.2 ทำเด็กเสี่ยงป่วยหนัก-เสียชีวิตกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น
ผลวิจัยฮ่องกงชี้โควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทำเด็กเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น รวมถึงไข้หวัดใหญ่ และโรคพาราอินฟลูเอนซาด้วย
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เปิดเผยผลการศึกษาใหม่จากฮ่องกง ซึ่งถือเป็นข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองและตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ พบว่า หากเด็กติดโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กที่ติดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ไข้หวัดใหญ่ และโรคพาราอินฟลูเอนซา อย่างไรก็ตามการพบผู้เสียชีวิตหรือผลลัพธ์ที่ร้านเรงอื่น ๆ มีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
วิจัยใหม่ชี้ “โอมิครอน BA.2” ตัวเต็งสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) ตัวถัดไป
เดนมาร์กเผย “โอมิครอน BA.2” ติดได้ง่ายกว่า BA.1 ราว 33%
โดยการศึกษาชิ้นนี้ได้เปรียบเทียบจำนวนเด็กที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด (ม.ค. 2563-พ.ย. 2564) และไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคพาราอินฟลูเอนซา (ม.ค. 2558 – ธ.ค. 2561)
และในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโอไมครอน มีเด็กติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,147 คน และเสียชีวิต 4 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นเด็กวัย 11 เดือน, 3 ขวบ, 4 ขวบ และ 9 ขวบ โดย 3 คนแรกมีสุขภาพดี แต่เด็กวัย 9 ขวบ มีอาการกล้ามเนื้อเสื่อม และมีผู้เสียชีวิต 2 คนที่เสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบหรือสมองบวม ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด
เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิต พวกเขาพบว่าเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วย BA.2 มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 7 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจาก BA.2 มากกว่าผู้ป่วยโรคพาราอินฟลูเอนซาถึง 6 เท่า
ส่วนอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 คิดเป็น 0.35% ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 0.05% และผู้ป่วยโรคพาราอินฟลูเอนซา 0.04% ส่วนอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูสำหรับโอมิครอน BA.2 สูงกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น 18 เท่า สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า และใกล้เคียงกันกับโรคพาราอินฟลูเอนซา
ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงไม่พบเด็กติดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ เกิดอาการชักจากไข้ แต่เด็กที่ติดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีโอกาสเป็นลมชักได้มากกว่าเด็กที่ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง 3 เท่า และมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็กที่ติดโรคพาราอินฟลูเอนซาถึง 4 เท่า
นอกจากนี้เด็กที่ติดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองบวมได้สูงกว่าเด็กที่เป็นโรคพาราอินฟลูเอนซา แต่ใกล้เคียงกับเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
ส่วนการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจ เด็กที่ป่วยจากโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ประมาณ 5% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่เด็กติดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ มีโอกาสอยู่ที่ 0.27% แสดงให้เห็นว่าโอกาสที่กลุ่มเด็กติดโควิดโอไมครอน BA.2 มีความเสี่ยงสูงกว่าประมาณ 11 เท่า เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า และประมาณสองเท่าเมื่อเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง สรุปว่า "ความรุนแรงที่แท้จริงของโควิดโอไมครอน BA.2 ไม่รุนแรงเท่าที่เห็นได้จากการเสียชีวิตและมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของเด็กที่ไม่ติดเชื้อ และไม่ได้รับวัคซีน"
นักวิทย์พบโควิด-19 “โอมิครอน BA.2” ลูกพี่ลูกน้องของโอมิครอนเดิม
จับตา “โอมิครอน BA.2” หวั่นเป็นสายพันธุ์ใหม่แทนที่โอมิครอนตัวปัจจุบัน
ย้ำ“วัคซีน”เครื่องมือสำคัญป้องกันโควิด
แม้ว่าผลการศึกษาข้างต้นอาจดูน่ากลัว แต่ พญ.คลอเดีย โฮเยน (Dr.Claudia Hoyen) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเด็กและทารกเรนโบว์ (UH Rainbow Babies & Children's Hospital) ในคลีฟแลนด์ (Cleveland) กล่าวว่า พ่อแม่ควรจำไว้ว่า โอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจากโควิดโอไมครอนนั้นต่ำมาก มาก มาก ๆ
โดยมีข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่เสียชีวิตโควิดมีอัตราน้อยกว่า 0.1%
"ฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรต้องตื่นตระหนก เมื่อได้เห็นสิ่งที่เราเห็นจากการศึกษาครั้งนี้ หลายคนอาจรู้สึกโล่งใจ แต่มันยังไม่จบ มีประชากรจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องได้รับการป้องกัน สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก พวกเขาอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าครอบครัวอื่น" พญ.โฮเยน กล่าว
อย่างไรก็ตาม พญ.เบธ ธีเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กที่มหาวิทยาลัยมินิโซตา เห็นด้วยว่า วิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวในการปกป้องทารกและเด็กเล็กคือต้องแน่ใจว่าทุกคนรอบตัวพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนโควิด มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากแอนติบอดีจากวัคซีนป้องกันทั้งคุณแม่และเด็กทารกในครรภ์เป็นระยะเวลาหนึ่งหลังคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยป้องกันได้เนื่องจากแอนติบอดีส่งผ่านไปยังทารกผ่านทางน้ำนมแม่