หน้ามืด-ใจสั่นบ่อย สัญญาณ “โรคหัวใจ” ที่คนอายุน้อยเป็นมากขึ้น!
“โรคหัวใจ” ภัยเงียบที่หากกำเริบจะเฉียบพลันและอันตรายได้ถึงชีวิต ที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยชรา โดยปัจจุบันพบอัตราเกิดในวัยรุ่นวัยทำงานเยอะมากขึ้น เช็กสัญญาณโรคได้ที่นี้!
โรคหัวใจ (Heart Disease) หนึ่งในโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีความหมายครอบคลุมหลากหลาย ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ ที่มีปัจจัยกระตุ้นทั้งพันธุกรรม การใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงก่อโรคและโรคประจำตัวอื่นๆ จำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก
- กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
- หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ
- ลิ้นหัวใจผิดปกติ
- เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ
7 สัญญาณเตือนเสี่ยง “โรคหัวใจ” อันตรายใกล้ตัวเฉียบพลันถึงชีวิต
4 วัยทันโรคหัวใจ ป้องกัน“ภาวะหัวใจล้มเหลว”ได้ตั้งแต่ในท้อง!
สัญญาณโรคหัวใจควรพบแพทย์
- มีโรคประจำตัวบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมทางครอบครัว
- อาการแน่นหน้าอก มีอาการร้าวขึ้นกรามด้านซ้าย ร้าวไปถึงท้องแขนด้านซ้ายหรือร้าวลงมาบริเวณท้อง ร่วมกับอาการเหงื่อแตก และใจสั่นร่วมด้วย
- มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ หรือวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
- มีอาการใจสั่น ใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน
- มีอาการเหนื่อย ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย และจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวัง อาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
- อาการขาบวมบริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลง เมื่อยกนิ้วขึ้นเนื้อก็ยังไม่คืนตัว ร่วมกับมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
11 ความเสี่ยง “โรคหัวใจ” เช็กอาการเจ็บหน้าอกแบบไหนควรพบแพทย์
ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นโรคหัวใจทั้งที่อายุน้อย
ปัจจุบันเราพบว่าหนุ่มสาววัยทำงานนั้นมีความเสี่ยงสารพัดโรคมากกว่าสมัยก่อนไม่ใช่แค่โรคหัวใจ เป็นผลมาไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่หักโหมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกินอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารตามสั่งที่มักมีไขมันสูง การทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และติดการใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย ทั้งยังมีเรื่องของความเครียด การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ ยิ่งหากใครที่สูบบุหรี่หรือชอบปาร์ตี้ดื่มเหล้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นไปอีก
ซึ่งนอกเหนือจากพฤติกรรมก็มีอยู่บ้าง เช่น เรื่องของโรคประจำตัวและพันธุกรรม ซึ่งหากใครมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือแม้แต่ตนเองเป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ควรติดตามอาการหากมีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภาพจาก : Shutterstock