โควิด-19 รอบสัปดาห์ ผู้ติดเชื้อไทยลดลงสอดคล้อง WHO รายงานสถานการณ์ทั่วโลก
สถานการณ์โควิด-19 รอบสัปดาห์ที่ 38 พบยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดลงเหลือ 190 ราย เสียชีวิตลดลงเหลือ 1 คน ต่อสัปดาห์สอดคล้องสถานการณ์ทั่วโลกที่พบแนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต “ลดลงทั่วโลก” แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤตต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูกลับ กลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก
กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ระบุว่า ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 38 ระหว่าง 24-30กันยายน 2566 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่รักษาในโรงพยาบาล 190 ราย เฉลี่ยรายวัน 27 รายต่อวัน ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 33,555ราย ขณะที่ผู้ป่วยหนักปอดอักเสบพบรายงาน 106 รายและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 72 ราย ด้านผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 1 ราย ต่อสัปดาห์ เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 805 ราย
โควิด-19 รอบสัปดาห์ ผู้ติดเชื้อลดต่ำ-ด้านไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
โควิด-19 รอบสัปดาห์ แพทย์เผยอัตราระบาดลดลงเพราะส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน
สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไม่พบการรายงานว่ามีผู้เข้ารับวัคซีนเพิ่มเติม โดยในปัจจุบันฉีดวัคซีนสะสม 144,951,341 โดส แบ่งเป็น วัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,233,919 โดส คิดเป็น 82.28% เข็มที่ 2 จำนวน 53,730,348 โดส คิดเป็น 77.25% และตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 33,987,074 โดส (อัพเดตวันที่ 26 พ.ค. 2566)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เปิดเผย รายงานสถานการณ์โควิด-19 จากองค์การอนามัยโลกในรอบ 28 วันที่ผ่านมา (วันที่ 1-28 กันยายน 2023) เทียบกับ 28 วันก่อนหน้าพบแนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต “ลดลงทั่วโลก” แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาเข้าขั้นวิกฤตต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูกลับ “เพิ่มขึ้นทั่วโลก”
รายงานจากองค์การอนามัยโลกแจ้งว่า:
- ผู้ป่วยจากโควิด-19 ในรอบ 28 วันที่ผ่านมา ลดลง 55% ทั่วโลก เทียบกับ 28 วันก่อน
- ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในรอบ 28 วันที่ผ่านมา ลดลง 34% ทั่วโลก เทียบกับ 28 วันก่อน
ในระดับภูมิภาค
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับรายงานในช่วง 28 วันลดลงหรือยังคงทรงตัวในสี่ภูมิภาคจากหกภูมิภาคที่แบ่งโดยองค์การอนามัยโลก: ภูมิภาคแอฟริกา (-92%) ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก (-65%) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(-23%) และภูมิภาคอเมริกา (+3%); ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสองภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก: ภูมิภาคยุโรป (+19%) และภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (+53%)
จำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานใหม่ในช่วง 28 วันเพิ่มขึ้นในสามภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (+33%) ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (+88%) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (+111%); ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงในสามภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก: ภูมิภาคอเมริกา (-58%) ภูมิภาคยุโรป (-54%) และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก (-15%)
ในระดับประเทศ
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 28 วันรายงานสูงสุดจากสาธารณรัฐเกาหลี (ผู้ป่วยใหม่ 392,073 ราย -70%) อิตาลี (ผู้ป่วยใหม่ 60,885 ราย +84%) สหราชอาณาจักร (29,959 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ -5%) สหพันธรัฐรัสเซีย (ผู้ป่วยใหม่ 28,441 ราย +132%) และเม็กซิโก (ผู้ป่วยใหม่ 26,746 ราย +3%)
จำนวนผู้เสียชีวิตใหม่ในช่วง 28 วันสูงสุดรายงานจากออสเตรเลีย (ผู้เสียชีวิตใหม่ 734 คน; +263%), อิตาลี (ผู้เสียชีวิตใหม่ 232 คน; +6%), สาธารณรัฐเกาหลี (ผู้เสียชีวิตใหม่ 122 คน; -80%), เม็กซิโก ( เสียชีวิตใหม่ 106 ราย -26%) และอินเดีย (เสียชีวิตใหม่ 103 ราย +758%)
แต่การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลับเพิ่มขึ้น 45% ทั่วโลก โดยมีรายงานการรักษาในโรงพยาบาลใหม่ประมาณ 95,999 ครั้งในช่วง 28 วันที่ผ่านมา การรับเข้ารักษาใน ICU: เพิ่มขึ้น 18% ทั่วโลก โดยมีรายงานการรับเข้ารักษาในไอซียู ใหม่ประมาณ 985 รายในช่วง 28 วันที่ผ่านมา
รายงานการลดลงของจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกควรได้รับการตีความและแปลผลด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากการทดสอบการติดเชื้อด้วย ATK ด้วยตนเองจะไม่มีการรายงานผลให้นับจำนวนผู้ติดเชื้อได้ ส่วนการตรวจ PCR และ การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (COVID-19 Genomic Surveillance) ต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการเฉพาะมีค่าใช้จ่ายสูงแต่สามารถรายงานผลรวมการติดเชื้อทั้งประเทศได้ กำลังถูก ลด ละ และเลิกใน หลายประเทศทั่วโลก
ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการรับเข้าห้องไอซียูทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ การติดตามผลการรักษาในโรงพยาบาลและหน่วยไอซียู เป็นสิ่งสำคัญในการประเมินผลกระทบของโควิด-19
เตือน! ไวรัสโคโรนา 20 สายพันธุ์ใหม่ค้างคาว พบเสี่ยงสูงแพร่ระบาดสู่คน
ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการรักษาในห้องไอซียูเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในบางประเทศและภูมิภาค ได้แก่:
- มาตรการด้านสาธารณสุขที่ผ่อนคลาย - ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้ผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เช่น คำสั่งสวมใส่หน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจผลักดันให้เกิดการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นและผลลัพธ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในกลุ่มเปราะบาง
- ภูมิคุ้มกันลดลง - ประเทศที่มีการเปิดตัววัคซีนตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และบางส่วนของยุโรป กำลังเผชิญกับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงหากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังล่าช้า
- ทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีน – ปัญหาความลังเลของประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนในบางพื้นที่เนื่องจากกังวลเรื่องผลข้างเคียง (1 ใน 100,000 เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน mRNA โดยเฉพาะในวัยรุ่นและชายวัยหนุ่มสาวหลังได้รับโดสที่สอง) ที่อาจทำให้ประชากรกลุ่มนี้กลับมาเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง
- การอุบัติขึ้นของโอมิครอนกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง - การเพิ่มขึ้นของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยเช่น โอมิครอน EG.5, XBB.1.16, XBB 1.9.2, และ BA.2.86 มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงส่วนหนามไปมากอาจทำให้โอมิครอนรุ่นนี้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติในบางประเทศ ในขณะนี้โอมิครอน XBB.1.5 มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งองค์การอนามัยโลกร้องขอให้ชาติสมาชิกร่วมเฝ้าติดตาม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม:
- โอมิครอนสายพันธุ์ที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด (variant of interest: VOI)
- โอมิครอน EG.5 - เป็น VOI ที่แพร่หลายมากที่สุด และคิดเป็น 33.6% ของตัวอย่างที่ถอดรหัสพันุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” พบแล้วใน 73 ประเทศ
- โอมิครอน XBB.1.5 - ทั่วโลกคิดเป็น 8.6%
- โอมิครอน XBB.1.16 - ทั่วโลกคิดเป็น 18.9%
- โอมิครอนสายพันธุ์ที่ติดตามห่างๆ (Variant Under Monitoring: VUM)
- โอมิครอน XBB.1.9.2 - มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยคิดเป็น 11.2%
- ส่วนโอมิครอน BA.2.86 ยังพบการระบาดทั่วโลกน้อยเกินกว่าที่คำนวณออกมาเป็น %
- พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงาน/นักเรียนกลับเข้าเรียนในโรงเรียน - การกลับมาทำงาน/โรงเรียนด้วยตนเองอีกครั้งหลังวันหยุดฤดูร้อนอาจทำให้การติดต่อและการแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้นในบางภูมิภาคในซีกโลกเหนือ
- ฤดูกาล – ประเทศในซีกโลกเหนือได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิจากฤดูกาล เช่นในช่วงฤดูหนาวที่ประชาชนหลบอากาศหนาวชุมนุมอยู่ในบ้านหรืออาคารที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของไวรัสทางเดินหายใจ
- การขาดแคลนบุคลากร – ความตึงตัวของระบบสุขภาพและการขาดเจ้าหน้าที่อาจทำให้การดูแลล่าช้าและลดคุณภาพการรักษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
- พฤติกรรมการตรวจไวรัสโควิด-19 ที่ลดลง – การลด ละ และเลิกการทดสอบด้วย ATK, PCR, การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมทำให้การวินิจฉัยและการดูแลรักษาล่าช้าไปจนเกิดการลุกลามของโรค
- ข้อมูลประชากรตามอายุ – ประเทศที่มีประชากรสูงวัย(ประเทศในซีกโลกเหนือ)อาจประสบปัญหาร้ายแรงมากกว่าประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว(ประเทศในแอฟริกา)
อย่างไรก็ตาม การป้องกันด้วย วัคซีน (เมื่อพัฒนาสำเร็จ) การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ กินร้อนช้อนกลาง สถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงานที่มีการระบายอากาศ และการสวมหน้ากากอนามัย ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการต่อสู้กับโคโรนา 2019 และบรรดาโรคอุบัตใหม่ ในระยะยาวอย่างมีประสิทธิผล