ลดปัญหาถูกทิ้ง!จุฬาฯชี้“ทุเรียนอ่อน”มีสารดีต่อผิว เล็งผลิตเครื่องสำอาง
แก้ปัญหา“ทุเรียนอ่อน”ถูกทิ้งจนล้น จุฬาฯค้นพบสารสำคัญหลายชนิดดีต่อผิว เล็งผลิตเครื่องสำอาง ช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม
“ทุเรียน” เป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศและเกษตรกร แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีผลทุเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าใด ๆ
ทุกครั้งที่ทุเรียนออกดอก ในหนึ่งต้นชาวสวนต้องตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้งโดยเฉลี่ยแล้วราว 200-300 ผล
สาวไลฟ์สดขายทุเรียนโบราณ ไทย-เทศแห่สั่ง ตั้งแต่ต้นปีรวมแล้วกว่า 10 ตัน
ชาวบ้านสามร้อยยอดนำ "ทุเรียนอ่อน" ที่ร่วงจากพายุมาทำแกงส้ม
รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ
เนื่องจากทุเรียนหนึ่งต้นจะออกดอกจำนวนมาก ถ้าทุกดอกกลายเป็นผลทั้งหมด ต้นทุเรียนจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้กิ่งหักได้ ชาวสวนจึงต้องเลือกตัดผลทุเรียนอ่ออนออกบางส่วนออก ให้เหลือไว้แต่ผลที่จะเจริญเติบโตได้จริงและมีรูปร่างสวยงาม เพื่อจะได้ขายได้ราคาดี
สำหรับผลทุเรียนอ่อนที่ถูกคัดออก ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ทุเรียนอ่อนที่ถูกทิ้ง” เอามาเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นที่มาให้เริ่มวิจัย “สารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง”
สารสำคัญในทุเรียนอ่อนดีต่อผิว
รศ.ดร.ศุภอรรจ อธิบายว่า ทุเรียนอ่อนคือผลของทุเรียน (Durio zibethinus L.) ระยะตัดแต่งผลที่ยังไม่มีการเจริญของเนื้อผลที่สมบูรณ์ และยังไม่มีการสร้างกลิ่นของสารระเหย ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน ผลทุเรียนอ่อนมีความยาว 6-12 เซนติเมตร และมีเมือกใสคล้ายเมือกหอยทากอยู่ภายในเมื่อนำไปแช่น้ำ
โดย ทีมวิจัยของเรานำผลทุเรียนอ่อนไปวิเคราะห์เมแทโบโลม (เมแทบอไลต์ทั้งหมด) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย จึงพบสารสำคัญมากมาย ดังนี้
- โพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก
- ฟีนอลิก (Phenolics) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ
- ต้านไกลเคชัน (Glycation) คือ การเติมน้ำตาลเข้าไปที่โปรตีน สอดคล้องกับความชราของเซลล์ รวมไปถึงความสามารถในการป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต
- เพคติน (Pectin) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
รศ.ดร.ศุภอรรจ อธิบายอีกว่า สารต่างๆ ที่พบในทุเรียนอ่อนเป็นสารที่พบได้ในพืชและผลไม้หลายชนิด อาทิ เมล็ดองุ่น โกโก้ ฯลฯ แต่ชนิดและปริมาณของสารสำคัญที่พบในพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ซึ่งปริมาณของสารสำคัญในทุเรียนอ่อนสามารถเทียบเคียงกับพืชชนิดอื่นๆ ได้
ตากแดดนานมีผลเสีย เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง-ต้อกระจก
ดีกับผิวไม่พอ ยังดีต่อผม ปลอดกลิ่น และปลอดภัย
นางสาวพุทธมาศ ผิวล่อง นิสิตปริญญาโทภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายต่อว่าการสกัดสารจากทุเรียนอ่อนที่มี “Biomarker” เป็นการกำหนดฤทธิ์ทางชีวภาพ เป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ซึ่งกรรมวิธีการสกัดนี้จะทำให้ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและแพคตินในปริมาณค่อนข้างสูง
“เมื่อได้สารสกัดจากทุเรียนอ่อนแล้ว เราจึงนำมาทดสอบกับเซลล์ผิวหนังโดยนำเซลล์มาแบ่งและบ่มกับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเติมตัวที่ทำให้เซลล์เกิดภาวะเครียดเข้าไป ให้คล้ายกับเราเดินไปเจอฝุ่น เจอแสงแดด ผลพบว่าเซลล์ที่มีสารสกัดทุเรียนอ่อนอยู่ในปริมาณมาก จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตจะมีอยู่จำนวนมากเช่นกัน หมายความว่าเมื่อเราทาครีมก่อนไปเจอมลภาวะ จะรักษาปกป้องเซลล์มากกว่าไม่ทาอะไรเลย และเมื่อเราลองทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดทุเรียนอ่อน เปรียบเทียบกับวิตามินซี ก็พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีศักยภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าวิตามินซี เนื่องจากสารสกัดทุเรียนอ่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก”
นอกจากประสิทธิภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ทดสอบความเป็นพิษกับผิวหนัง พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์เชิงบวก ไม่พบความเป็นพิษ โอกาสก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ จึงมีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี
“เราได้ลองนำครีมกันแดดตามท้องตลาดมาผสมกับสารสกัดในรูปแบบผงสารสกัด ในปริมาณ 2-3% ตามมาตรฐานที่ อย.กำหนด พบว่า เนื้อครีมกันแดดให้เนื้อสัมผัสเหมือนเดิม ผงสารสกัดที่มีสีเหลืองจางๆ เมื่อใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วแทบจะไม่เห็นความแตกต่างของสี ที่สำคัญคือสารสกัดจากทุเรียนอ่อนไม่มีกลิ่น จึงไม่รบกวนกลิ่นของครีมกันแดด”
นอกจากนี้แล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าสารสกัดทุเรียนอ่อนยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์รากผมอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไปได้
นางสาวพุทธมาศ ผิวล่อง
ทุเรียนอ่อนทุกสายพันธุ์ สร้างมูลค่าในอนาคตได้
แม้แรกเริ่ม ทีมวิจัยจะวิจัยสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์หมอนทอง แต่ภายหลังก็ได้ทดสอบสกัดสารสำคัญจากทุเรียนอ่อนพันธุ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งพบว่าไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด ทุเรียนอ่อนก็ให้สารสำคัญที่ไม่ต่างกัน
ในอนาคต เมื่องานวิจัยก้าวไปถึงขั้นการผลิตเชิงพาณิชย์ ทีมวิจัยเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ชาวสวนไม่ต้องตัดทุเรียนอ่อนทิ้ง แต่ตัดส่งมาผลิตเป็นสารสกัดในเครื่องสำอาง
ประเทศไทยมีทรัพยากรจำนวนมาก โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผลไม้ ซึ่งน่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปรรูปสินค้า การนำวัตถุดิบเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรม
“กล้วย”สารพัดประโยชน์ กินถูกวิธีได้ทั้งบำรุงผิว-ดูแลสุขภาพ