กองทัพภาคที่ 2 แจงเอกสาร IO เป็นของปลอม
รองโฆษกทบ. ยัน กองทัพภาคที่ 2 จำเป็นต้องฟ้องส.ส.ก้าวไกลใช้ข้อมูลเท็จอภิปรายฯ
แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตอบว่าสบายใจขึ้น หลังออกมาแสดงท่าทีเมื่อวานนี้ ต่อแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวต่อรองตำแหน่ง ด้วยการคะแนนส.ส.ที่จะโหวตไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจตัวนายกฯ แต่ก็ยังไม่กล้าตอบชัดเจนว่า สามารถควบคุมเสียงส.ส.ทั้งหมดได้
ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังมีกระแสข่าวว่ามีแกนนำคนสำคัญในพรรคพลังประชารัฐบางคน ที่ถือเสียงส.ส.กลุ่มหนึ่งไว้ และกำลังงัดข้อต่อรองบางอย่างกับพล.อ.ประยุทธ์ โดยคนที่ถูกพุ่งเป้า คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
กระแสข่าวความขัดแย้ง ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส ทวีความรุนแรงขึ้นอีก เมื่อล่าสุด นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ออกมากระพือข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลังนายมงคลกิตติ์ ออกมาปูดข่าวเรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องประชุมสภาว่า ตัวเองไม่ทราบ เรื่องที่นายมงคลกิตติ์ให้ข่าว เพราะเพิ่งไปคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ข้างนอกมา จึงยังไม่รู้เรื่องนี้ และไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ คงไม่ได้ถึงขั้นติดใจเอาความอะไรกับนายมงคลกิตติ์ เพราะเชื่อว่า เจ้าตัวไม่ได้ประสงค์ให้ร้ายอะไร แต่เมื่อถามว่า หลังมีกระแสข่าวขัดแย้งกับนายกฯเสียกำลังใจจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ เรื่องนี้ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า ส่วนตัว ไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถาม ร.อ.ธรรมนัส อีกว่า มีความเห็นอย้างไรต่อกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดถึงคนปล่อยข่าวในลักษณะแอบอ้างว่า สถาบันเบื้องสูงไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์
ประเด็นนี้ ร.อ.ธรรมนัส ตอบโต้ผู้สื่อข่าวโดยขอให้อย่าถามแบบนี้ เพราะการเมืองคือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และอย่าดึงมาเกี่ยวข้องกัน
สำหรับกระแสข่าว ขบวนการ “ล้มประยุทธ์” ทีมข่าวพีพีทีวีตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เป็นส.ส.พรรคเล็ก ส.ส.พรรครัฐบาล แม้กระทั้ง ส.ว. ยืนยันว่า มีมูลความจริง หากตั้งสมมติฐานว่า จะให้ พล.อ.ปะยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นช่องทางที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนไม่ไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภา คือ 241 คน ก็จะหลุดจากตำแหน่ง และ ครม.จะพ้นสภาพ
วัดเสียงกันตอนนี้ในสภามีส.ส.ทั้งสิ้น 482 คน รัฐบาลมี 272 เสียง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 119 เสียง ภูมิใจไทย 61เสียง ประชาธิปัตย์ 48 เสียง ชาติพัฒนา 11 เสียง ที่เหลือเป็นพรรคต่ำสิบ 15 พรรค มีเสียงรวมกัน 32 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 210 เสียง เพื่อไทย 134 ก้าวไกล 53 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง พลังปวงชนไทย 1 เสียง
ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 151 ระบุว่า มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นอย่างน้อยจะคว่ำนายกฯในสภาคราวนี้ได้ ฝ่ายค้ายต้องหาเสียงให้ได้มากกว่า 241 เสียงหรือมากกว่านั้น ปัจจุบันพรรคฝ่ายค้านมี 210 เสียง ต้องหาเสียง ส.ส.อีกประมาณ 30 กว่าเสียงถึงจะคว่ำพล.อ.ประยุทธ์ลง
30 เสียงปริศนา ถือเป็น ตัวแปรสำคัญ หากตรวจแถว ส.ส. ตัวแปร มีอยู่ 3 กลุ่มหลัก 1.พรรคเล็ก 2.กลุ่มเพื่อนมาร์ค ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 3-4 เสียง 3.กลุ่มที่เป็นกระแสข่าวคือ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ
กลุ่มแรก 9-10 เสียงของพรรคเล็ก เป็นที่รู้กันว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ดูแล ส.ส.กลุ่มนี้อยู่ ส.ส.กลุ่มนี้สามารถลงมติชี้ขาด เป็นผลบวก และลบให้กับรัฐมนตรีได้
ทีมข่าวพูดคุยกับ หนึ่งใน ส.ส.พรรคเล็ก นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรคคพลังธรรมใหม่ บอกว่า การอภิปรายในครั้งนี้มีหลายเรื่องที่ ส่งผลต่อพรรคร่วมรัฐบาลในการลงมติ เช่น กรณีฝ่ายค้านอภิปรายแฉส่วนต่างการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคมีส่วนต่างกว่า 2 พันล้านบาท ตัวเองในฐานะที่ต้องตัดสินใจลงมติ ขอขีดเส้นตายว่า หาก 3 กันยายนนี้ รัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของตัวเอง
อีกกลุ่มที่ถูกจับตาในการลงมติ คือ “กลุ่มเพื่อนมาร์ค” เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 3-4 คน ที่สนิทกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่กลุ่มนี้ถูกจับตา
เพราะ นายอภิสิทธิ์ มีจุดยืนชัดเจน ว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
ทีมข่าวพูดคุยกับ หนึ่งในบุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือ อันวาร์ สาและ ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงมติ อย่างไร ต้องฟังการชี้แจงการคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็ดนเรื่องที่ประชาชนสะท้อนปัญหาความเดือนร้อนจากโควิด-19
หากคิดในสมมติฐานว่า ทั้ง พรรคเล็กและ ส.ส.กลุ่มเพื่อนมาร์ค ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จำนวนเสียงก็ยังไม่พอจึงมีกระแสข่าวว่า มีการรวมเสียง ในพลังประชารัฐ เพื่อล้มพล.อ.ประยุทธ์ และที่ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส ตกเป็นเป้าโจมตี เพราะนอกจากคุมเสียงพรรคเล็กแล้ว ยังมี ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ อีกจำนวนไม่น้อย ทั้งส.ส.ภาคเหนือ และภาคใต้บางส่วนรวมถึง อีสานใต้ ที่มีนายเอกราช ช่างเหล่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้คุมเสียงอยู่
อีกสาเหตุที่ ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส ตกเป็นเป้าโจมตี เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดี กับ พรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในการพูดผ่านรายการของกลุ่มแคร์ผ่านแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์หลายครั้ง นายทักษิณ ไม่เคยตำหนิ ร.อ.ธรรมนัส และ บางครั้งมีการชื่นชมว่าเป็น นักการเมืองที่ขยันทำงาน ประเด็นเหล่านี้ ยิ่งทำให้เกิดกระแสข่าว การจับมือตั้งรัฐบาลของ เพื่อไทย กับ พลังประชารัฐ
ประเด็นนี้ทีมข่าวคุยกับ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน บอกว่า ยังไม่เห็นกระแสข่าวนี้ แต่เชื่อว่ามี ส.ส.ในพลังประชารัฐ หลายคนไม่พอใจ การทำงาน ของ พล.อ.ประยุทธ์ และมีความเป็นไปได้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยออกจดหมาย กำชับให้ ส.ส.ลงมติ ไม่ไว้วางใจ ใครแตกมติ มีโทษสูงสุดขับออกจากพรรค
ส่วนในอนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นนายกแล้ว ใครจะดำรงตำแหน่งแทน และ ส.ส. ในพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทย พลังประชาชน หรือ ไทยรักไทย จะกลับมาร่วมกับ เพื่อไทยหรือไม่ นายสุทิน บอกว่า เป็นเรื่องที่พูดยาก อาจจะกลับมาที่เดิม หรือ ตั้งเป็นกลุ่ม ส.ส. ใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ปิดโอกาส เพราะพรรคเพื่อไทย เปิดรับกับบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ข่าวการล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการยืนยันอีกเสียงจาก นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่า หากขบวนการล้มพล.อ.ประยุทธ์ สำเร็จ วงจรอุบาทว์ อาจจะกลับมาอีกครั้ง