การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ และจีนกับไต้หวันให้ร้อนระอุเพิ่มขึ้นไปอีก โดย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมีมุมมองต่อเรื่องนี้กับพีพีทีวี นิวมีเดีย ว่า ต้องจับตา 3 ระยะ
“แนนซี เพโลซี” เดินทางออกจากไต้หวันแล้ว มุ่งหน้าสู่เกาหลีใต้
หุ้นทั่วเอเชียฟื้น นักลงทุนเมินจีนขู่สหรัฐฯ ปม “เพโลซี” เยือนไต้หวัน
ระยะสั้น ความตึงเครียดของจีนและสหรัฐจะยังคงอยู่ ซึ่งต้องจับตาการซ้อมรบของจีน ระหว่าง 4-7 ส.ค. โดยปิดน่านน้ำและน่านฟ้าล้อมรอบไต้หวัน ว่าจะมีความเข้มข้นในระดับใด
ขณะเดียวกัน จะยังคงมีโวหารโต้ตอบระหว่างกันโดยเฉพาะในช่วงที่จะเปลี่ยนผ่านผู้นำจีน สี จิ้น ผิง ซึ่งจะครบวาระ 5 สมัยในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความกังวลในเวทีระหว่างประเทศ
ระยะกลาง จีนอาจยกระดับมาตรการต่างๆ กับไต้หวันคล้ายกับที่ทำกับฮ่องกง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันและความกังวลกับไต้หวัน ว่าจีนจะใช้มาตรการลงโทษที่รุนแรงทั้งการวางกำลัง การทูต ทางการค้า อย่างไร
ระยะยาว ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ที่ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิม และอาจแย่ลงกว่าเดิมทั้งในด้านสงครามการค้า การทูต ที่สำคัญคือการแบ่งขั้วของมหาอำนาจชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่สงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งต้องดูท่าทีนับจากนี้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีการจัดการความขัดแย้งไม่ให้บานปลายอย่างไร
แล้วบทบาทของ “ไทย” จะวางตัวอย่างไร? ต่อขั้วอำนาจของโลกที่แบ่งชัดเจนนี้
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า สำหรับไทยควรวางตัวในบทบาทที่สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และต้องระมัดระวังในการแสดงท่าทีหรือจุดยืนที่ออกไปทางสนับสนุนฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากชาติมหาอำนาจในปัจจุบันมีการ ปรับยุทธศาสตร์ แบ่งขั้วอำนาจที่ชัดเจน ขณะที่ไทยยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูต การค้า กับทุกประเทศ และแสดงออกในจุดยืนที่ประชาชนคนไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด และไม่ปิดกั้นการรับรู้ต่อท่าทีของรัฐบาล
ไทยต้องไม่ Action จนออกนอกหน้า ในจุดที่มหาอำนาจปรับยุทธศาสตร์ใหม่ แบ่งข้าง แบ่งค่ายชัดเจน เราไม่ควรต้องรีบตัดสินใจเลือกข้าง ตราบใดที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้า การทูตกันอยู่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย