วันที่ 24 ม.ค. 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีความคืบหน้ากรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังถูกกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่า เรื่องดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงจะให้สัมภาษณ์เอง
“วราวุธ” เชื่อคดีส่วยอุทยานฯ ไม่กระทบภาพลักษณ์
แฉ! ส่วยอุทยานฯ มี "แมวมอง" เลือกเหยื่อ
แต่สรุปได้ว่าคณะกรรมการสอบวินัยนั้นมีระยะเวลา 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.พ. 2566 หากมีหลักฐานที่ทำให้เห็นชัดว่าถ้ามีเรื่องทุจริตแบบนี้สามารถดำเนินการตามกฏหมายได้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ม.101 ประกอบกฎกระทรวง และระเบียบกพ. ว่าด้วยการสอบวินัย สามารถดำเนินการสั่งให้ออกจากราชการได้ แต่ไม่ใช่ว่าพอเกิดเรื่องแล้วสามารถให้ออกได้ทันที เพราะต้องให้การสอบสวนดำเนินไปสักระยะหนึ่งก่อน
ซึ่งขณะนี้ได้ความว่า ทางตำรวจปปป. ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว ซึ่งนั่นเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง แต่จะมีรายละเอียดอย่างไรตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการสอบสวนจากทางกระทรวง ทรัพย์นั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง หากผลการสอบทั้งสองด้านออกมาแล้วยันกัน ก็สามารถนำไปสู่คำสั่งให้ออกจากราชการได้ ซึ่งเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงทรัพย์ฯไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรีว่าการฯ และไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี
นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างในอดีตเมื่อปี 2561 เคยมีกรณีคล้ายกันนี้ คือ ปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) รองปลัดกระทรวง และอธิบดีกระทรวง มีการทุจริตเงินช่วยเหลือสวัสดิการ คำสั่งแรกคือคำสั่งให้มาประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเหมือนกับคราวของนายรัชฎานี้ แต่ยังไม่ให้ออกจากราชการ เพื่อให้ลุกจากเก้าอี้ตรงนั้นก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการสอบ เมื่อสอบไปแล้ว 30 วัน จึงเห็นสมควรสั่งให้ออกจากราชการ แต่การสอบวินัยก็ยังดำเนินการอยู่ การสอบคดีอาญาก็ยังดำเนินการ กระทั่งสอบวินัยแล้วพบว่าผิดจริงก็ไล่ออกจากราชการ ส่วนคดีก็ฟ้องร้องขึ้นศาลกันต่อไป ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับกรณีนี้