วันที่ 23 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบ 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการป.ป.ช. พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส. มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการป.ป.ช. โดยสำหรับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ส่วน ส.ส. ให้ถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง
สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องยื่นพร้อมเอกสารประกอบซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
โดยผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า
เลือกตั้ง 2566 : “เลขาฯป.ป.ช.” แนะ “กกต.” คุมเข้ม นโยบายเสี่ยงช่วงเลือกตั้ง
ป.ป.ช.ร่วมลงนาม 51 หน่วยงาน ขับเคลื่อนธรรมาภิบาล หวังร้องเรียนทุจริตภาครัฐลดลง
"โรม" ร้องป.ป.ช. สอบบัญชีทรัพย์สินส.ว.ทรงเอ
พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย อย่างไรก็ตามทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการนั้นรวมทรัพย์สินและหนี้สินที่มีในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สำคัญคือต้องยื่นภายในกำหนดเวลาเท่านั้น คือต้องยื่นภายในกําหนดเวลา 60 วัน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง แต่หากมีเหตุผลความจำเป็น อาจยื่นขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วันโดยชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.และต้องยื่นคำขอก่อนวันครบกำหนด
ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ ให้ใช้แบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศของคณะกรรมการป.ป.ช. โดยยื่นได้ 3 ช่องทาง คือ 1.จัดส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายบุคคลอื่นจัดส่งแทน ณ สำนักงานป.ป.ช.ส่วนกลาง และสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัด 2. จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 3. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออนไลน์ผ่านระบบ ODS ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็ว เพียงเตรียมไฟล์ และเอกสารประกอบให้อยู่ในรูปแบบ PDF โดยสามารถยื่นได้ที่เว็บไซต์ https://asset.nacc.go.th/ods-app/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ สายด่วน 1205 หรือติดต่อที่สำนักงานป.ป.ช. ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ