จากกรณี นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล แถลงเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมคดี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปมซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชัน จนนำมาสู่การสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ทั้งนี้หากย้อนไทม์ไลน์คดีดังกล่าว จะพบว่า เรื่องนี้ถูกตรวจสอบพบในปี 2564 ซึ่ง “สำนักข่าวอิศรา” ได้เปิดเผยข้อมูลความเชื่อมโยงระหว่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยพบว่า บริษัทดังกล่าวใช้ที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม เป็นที่ตั้งบริษัท ก่อนที่จะมีการแจ้งย้ายที่ตั้งก่อนนายศักดิ์สยามรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม
กระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูก นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกล่าวหาว่า นายศักดิ์สยาม ปกปิดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และว่าใน ปี 2561 มีการโอนหุ้นให้นอมินี ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี เพียง 23 วัน อีกทั้งมีการ นำ หจก.บุรีเจริญฯ เป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
จากนั้นวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในสภาฯว่า มีการซื้อขายหุ้นจริง ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 มีการโอนเงินและมีหลักฐานการโอนเงิน 3 ครั้ง รวม 119,500,000 บาท และจดเปลี่ยนหนังสือรับรอง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 และยังยืนยันว่า หลังจากนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหจก.บุรีเจริญฯ อีก ส่วนข้อสงสัยที่ว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่แจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายศักดิ์สยามแจ้งว่าเพราะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือกรณีที่ต้องยื่น มีเรื่องเดียวคือมีการเพิ่มเงินลงทุนหรือจดใหม่ กรณีโอนหุ้นไม่ต้องยื่น
วันที่ 25 มกราคม 2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นเรื่องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ว่าด้วยวิธีการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี
วันที่ 7 กุมภาพัยธ์ 2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นต่อเรื่องประธานสภาฯ อีกครั้ง เนื่องจากคำร้องก่อนหน้านี้ ประธานสภาฯ วินิจฉัยไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ อ้างไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ประธานสภาฯ โดยครั้งนี้ฝ่ายค้าน ส่งผ่านประธานสภาฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ สส. ของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 กรณีห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด
ศาล รธน.สั่งส่งหลักฐานเพิ่ม คดี “ศักดิ์สยาม-หจก.บุรีเจริญ”
“ศักดิ์สยาม” เตรียมคำชี้แจงเรียบร้อย หลังศาลสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ปมซุกหุ้น
สส.ก้าวไกล แฉ"ศักดิ์สยาม"ไม่แจ้งหนี้สินกับป.ป.ช
วันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามที่สุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
วันที่ 20 มีนาคม 2566 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำร้องวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และเป็นเหตุให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ออกไปเป็นเวลา 30 วัน
วันที่ 11 เมษายน 2566 นายศักดิ์สยามยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี
วันที่ 18 เมษายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกคำร้อง ของนายศักดิ์สยาม กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อันจะเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เดิมจึงยกคำร้องดังกล่าว
วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมคดี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปมซุก หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชัน โดยกล่าวหาว่านายศักดิ์สยามมีหนี้สินคงค้างกับห้างหุ้นส่วนนี้ในขณะที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่ได้เปิดเผยทรัพย์สินต่อป.ป.ช.อย่างถูกต้อง
จากนั้น วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดี ของนายศักดิ์สยามอีกครั้ง โดยในครั้งนั้น นายศักดิ์สยาม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่กังวลกับคดีดังกล่าว และมั่นใจในพยานหลักฐานที่ได้ยื่นไป ซึ่งตนได้ยืนยันตั้งแต่แรกและในคำชี้แจงก็ไม่ได้แถลงข่าว เชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมีความยุติธรรม”
วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
วันที่ 20 กันยายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาคดีของนายศักดิ์สยาม อีกครั้งหลังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นานเกือบ 7 เดือน
กระทั่ง วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนุญ แจ้งว่าได้ไต่สวนพยานในคดีนายศักดิ์สยาม รวม 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์, นางสาววรางสิริ ระกิติ, นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.
วันที่ 10 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้ มีคำสั่งกำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าว และมีการประกาศกำหนดอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย
วันที่ 17 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีของนายศักดิ์สยาม ในเวลา 14.00 น.
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 17 มกราคม 2567 ลอตเตอรี่ 17/1/67
เปิดประวัติ "วันครู" ทำไมถึงตรงกับวันที่ 16 มกราคม
ครอบครัวแจ้งข่าวเศร้า “หญิง จุฬาลักษณ์” อดีตดารายุค90 เสียชีวิตแล้ว