จากกรณี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารผลการประชุม ในคดีขอให้ พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมี กกต.เป็นผู้ร้อง โดยนัดพิจารณาคดี วันที่ 12 มิถุนายนนี้ พร้อมออกคำสั่งให้คู่กรณีงดการแสดงความคิดเห็นก่อนมีคำวินิจฉัย เพราะอาจกระทบต่อรูปคดี ล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นัดแถลงข่าวกรณีการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ระบุว่า
จะนำเสนอทั้งหมด 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่ โดยเน้นที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อยากให้แสดงความเห็น โดยใช้เวลาแถลง 30 นาที
สำหรับ 9 ข้อต่อสู้ประกอบด้วย
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
- กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 (ถูกร้องเสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง) ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
- การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
- การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 ไม่เป็นมติพรรค
- โทษยุบพรรคต้องเป้นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
- จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้ สัดส่วนกับความผิด
- การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา
โดย นายพิธา เริ่มต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง โดยหยิบยกรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภารัฐสภาคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ
(3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งไม่พบว่าไม่มีอำนาจข้อไหนที่บอกว่ายุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง
แม้ว่าจะระบุว่า อะไรที่นอกจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาไม่ใช่บ่อเกิดอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตมากกว่า 3 ข้อที่บัญญัติไว้
ต่อมานายพิธา ได้เน้นย้ำในข้อที่ 2 ข้อ 3 และ ข้อ 6 จากทั้งหมด 9 ข้อต่อสู้ คือ
ข้อ 2 กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจาก ผู้ถูกร้อง ก็คือ พรรคก้าวไกล ไม่มีโอกาสรับทราบ โต้แย้ง หรือ แสดงพยานหลักฐานของตน ทั้งที่ การยื่นคำร้องยุบพรรคต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ประกอบมาตรา 93 โดยคดีพรรคก้าวไกลแตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และ ไทยรักษาชาติ ในเรื่่องของระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กกต.
โดยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมาตรา 93 เปลี่ยนไปเมื่อ ก.พ.2566 ในส่วนของข้อ 7 คือ ในการดำเนินการตามวรรค 1 ของข้อ 7 บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้งต้องให้ผู้ถูกร้อง (พรรคก้าวไกล) มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ มีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน มีการเสนอข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนให้พิจารณา หากมีหลักฐานสมควร ให้ กกต.ต้องเห็นชอบ
เพราะฉะนั้น การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนี้ ขัดต่อระเบียบที่ กกต.ที่ตราขึ้นเองและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พรรคก้าวไกล ไม่มีโอกาสรับทราบ โต้แย้ง หรือ แสดงพยานหลักฐานของตน โดยกระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น เท่ากับว่าการยื่นคำร้องนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อต่อสู้ที่ 3.คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผลผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
เพราะหากมีผลผูกพันกับคดีถูกร้อง เสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เมื่อ 31 ม.ค.2567 ซึ่งได้รับการวินิจและได้ข้อยุติแล้ว พรรคก้าวไกล คงต้องถูกยุบ แต่ ความเป็นจริง กกต.ใช้คำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครอง เป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคคดีนี้ ไม่มีหลักฐานอื่นเลย และหวังว่าจะมีความผูกพันจากคดีเดือน ม.ค.สอดคล้องมาถึงเดือน มิ.ย. 2567
ทั้งที่กรณีที่คำพิพากษาหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีได้
1.ต้องเป็นข้อหาเดียวกัน ซึ่งในกรณีพรรคก้าวไกลต่างข้อหาก็ต่างวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย
2.ระดับโทษใกล้เคียงกัน แต่กรณีนี้มาตรฐานการพิสูจน์คดี จึงเข้มข้นต่างกัน
โดยคดีเมื่อ 31 ม.ค.2567 กกต. ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งในเลิกกระทำ แต่คดีนี้ใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 สั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เห็นว่าคนละบทกฎหมายไม่สามารถนำมาผูกพันกันได้ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีใหม่ ด้วยมาตราฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อน
ข้อต่อสู้ที่ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
นายพิธา กล่าวว่า มาตรการยุบพรรคมีได้ในระบบประชาธิปไตยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของประชาธิปไตย เป็นตัวแทนประชาชน การยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น โดยนายพิธา บอกว่า ที่ผ่านมา กกต.ยกคำร้องยุบของพรรคก้าวไกลมาโดยบตลอด ทั้ง นโยบายหาเสียง การแสดงความเห็นสาธารณะ การเป็นนายประกัน/ผู้ต้องหา การรณรงค์แก้กฎหมาย
และ สภาสามารถยับยั่งแก้ไขได้ ทั้งร่างกฎหมายที่ไม่ได้รับการบรรจุ หรือ บรรจุแล้ว แต่มีการอภิปรายในสภา ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบ ยับยั้งได้ ผ่านการโหวตวาระต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบยับยั้งได้ ผ่านการโหวตวาระต่างๆ และตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังประกาศใช้กฎหมายได้
ดังนั้น จึงสั่งการให้หยุดการกระทำก็เพียงพอแล้ว
ภายหลังการแถลง ผู้สื่อข่าวถามว่า นายพิธา ว่า มั่นใจหรือไม่ว่า 44 สส.ที่ร่วมลงชื่อจะไม่ถูกพิจารณาตัดสิทธิ์ไปด้วยทั้งหมด โดยนายพิธายืนยันว่ามั่นใจในทั้ง 9 ข้อ เพราะแต่ละข้อเหมือนเป็นบันไดที่ใช้ต่อสู้ แต่เชื่อว่าทั้งเจตนาและการกระทำของ สส.ในการเข้าชื่อ ไม่ได้เป็นการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง
และเมื่อถามความชัดเจนถึงเรื่องการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคตามคำร้องของ กกต. นายพิธาระบุว่า ตามคำร้องของ กกต. ตัดสิทธิ์ทั้ง 3 ชุด ชุดที่หนึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 1 / ชุดที่ 2 คือชุดที่ตัวเองลาออก และชุดที่ 3 คือชุดที่เติมสัดส่วนกรรมการบริหารภาคเหนือเข้ามา แต่ตัวเองมองว่าสัดส่วนของโทษควรจะสอดคล้องกับสัดส่วนของเวลา เพราะกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 3 เกิดขึ้นเพียงไม่เกิน 6 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นไม่ควรลากเข้ามาเกี่ยวข้อง
มีแผนสำรองและคิดว่าหากมีการยุบพรรคจริง สส.ทั้งหมดจะไม่แตกแถว
นายพิธา กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า ตอนนี้พรรคเดินหน้าเรื่องการต่อสู้คดี แต่ก็ยอมรับว่ามีแผนสำรองและคิดว่าหากมีการยุบพรรคจริง สส.ทั้งหมดจะไม่แตกแถว เพราะพรรคก้าวไกล มีความเป็นเอกภาพและเป็นปึกแผ่น และจากประสบการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมืองแบบร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีโอกาสกลับมา สส.ได้เลย และครั้งนี้ประชาชนร่วมตรวจสอบด้วย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ประมาทและไม่กังวล เพราะมีบทเรียนทั้งภายนอกและภายใน
ขณะเดียวกันก็ต้องรับฟัง แต่ก็ยังไม่เชื่อข้อมูลหรือคลิปวีดีโอที่เข้ามาหาตน ซึ่งต้องมีการพูดคุยและตรวจสอบก่อน เพราะตนไม่ได้ไร้เดียงสาว่ามีพรรคการเมืองพยายามดึง สส.พรรคก้าวไกล ไปร่วมเพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และเรื่องพวกนี้ตนก็รู้ทัน แต่ก็ยังมั่นใจในตัว สส.ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้หูเบา
หมายเหตุ : คดี 31 ม.ค.2567 ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง