หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยและลงมติ 9-0 ให้ยุบพรรคก้าวไกล ก่อนที่ต่อมาอดีตสมาชิกพรรคได้ก่อตั้งพรรคใหม่ในชื่อ “พรรคประชาชน” โดยวันที่ 9 สิงหาคม 2567 มีการลงมติเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค พร้อมได้ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และได้ “ติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก” เพื่อนของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” มานั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคนั้น
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการส่อโดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดด้านจริยธรรมตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต รวมถึงกรณีการไม่ยุติแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เกิดคำถามว่า "พรรคประชาชน" จะสานฝันพรรคก้าวไกล และพรรคอนาคตใหม่ สำเร็จหรือไม่? หรือยังต้องอยู่ในวังวนนิติสงครามต่อไป?
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร และกรรมมาธิการงบประมาณหลายสมัย ได้ร่วมพูดคุยกับพีพีทีวี ในรายการเข้มข่าวเย็น ช่วงคุยข้ามช็อต Exclusive Talk พร้อมวิเคราะห์กรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
เปิดข้อมูล "พรรคถิ่นกาขาว" ก่อนเปลี่ยนสู่ "พรรคประชาชน" สังกัดใหม่สีส้ม!
ผลยกน้ำหนักชายโอลิมปิก 2024 วีรพล วิชุมา ผงาดคว้าเหรียญเงิน
"เบรกแดนซ์" กีฬาชนิดใหม่ที่บรรจุในโอลิมปิก 2024
เสียดาย "พรรคประชาชน" แตะ "ม.112" เสี่ยงนำไปสู่ทางตัน
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า รอลุ้น เห็นว่ามีการประกาศจะเดินหน้าต่อเรื่องการเข้าไปแก้ไขมาตรา 112 รู้สึกเสียดาย ไม่น่าไปแตะต่อแล้ว แต่ถ้าเขาจะเดินต่อ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เขามีอีกหลายร้อยนโยบายที่สามารถเดินหน้าได้ในอนาคต แต่ก็เลือกที่จะเดินต่อ
สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมคือ ความเตรียมพร้อมของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีมาก เพราะในเดือนสิงหาคมจะมี 2 เหตุการณ์ คือ ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้ว ทีนี้โดยปกติ สส. มีเวลาในการย้ายพรรค 60 วัน วันที่ 14 สิงหาคม นี้ ถ้านายกรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่ง จะเกิดปัญหาทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปหมด ต้องตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่จะมีการดึงงูเห่า ดึง สส. จากพรรคที่สลายตัวไปอยู่ได้
ปรากฏว่าพอพรรคก้าวไกลถูกยุบ มาเป็นพรรคประชาชน เขาเอา สส. ย้ายกลับเข้าไปอยู่ ก็ต้องดูว่าอยู่ครบ 143 คนหรือไม่ ถ้าวสามารถใส่ชื่อในพรรคประชาชนได้หมด ต่อให้วันที่ 14 สิงหาคมเกิดอะไรขึ้นกับนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่สามารถย้ายพรรคได้ งูเห่าจะไม่โผล่แล้ว ซึ่งเหตุที่จะทำให้ย้ายได้มีเพียงอย่างเดียวคือ ถูกขับออกจากพรรค คือไม่สามารถย้ายออกจากพรรคได้โดยที่ยังมีตำแหน่ง สส. อยู่ในพรรค
ทำให้ตนคิดว่า พรรคประชาชนเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี ถือว่ากลยุทธ์ดี พอเกิดการย้ายพรรคก็แค่เปลี่ยนหัวชื่อพรรคอย่างเดียว แต่ถ้าไม่เตรียมความพร้อม จะมีปัญหาเหมือนในอดีต ที่พอพรรคแตกรัง สส. ต้องไปหาพรรคใหม่อยู่ภายใน 60 วัน ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อตัว ย้ายค่ายขึ้น
กรณีการซื้องูเห่าช่วงพรรคอนาคตใหม่โดนไปเยอะ ตอนพรรคพลังประชาชนแตกก็โดนเหมือนกัน แต่ถือว่าครั้งนี้พรรคประชาชนแก้ได้ดี
นายอรรถวิชช์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชน มีมติแต่งตั้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ สส.เท้ง นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ว่า ตนเคยขึ้นเวทีร่วมกันอยู่ 3-4 ครั้ง สังเกตว่าเขาเป็นคนถ่อมตัว และเป็นคนทำงานจริงจัง เท่าที่ได้คุยกันในเรื่องที่เขาถนัด รู้สึกว่าพรรคประชาชนก็เลือกถูกคน แต่ประเด็นที่หนักใจคือ เหตุใดจึงเดินหน้าไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 อีก ทั้งที่ว่าหากไปต่อจะมีโอกาสเสี่ยงมากที่จะนำไปสู่ทางตันอีก
"อรรถวิชช์" เผย "มาตรา 112" แก้ไขได้ ไม่ใช่ยกเลิก
นายอรรถวิชช์ เผยว่า จริง ๆ แล้วมาตรา 112 สามารถแก้ไขได้ แต่หากนำมาทำเป็นแคมเปญพรรคการเมืองอีกก็จะมีปัญหาตามไปอีก ซึ่งตนเสียดายตรงที่ว่าเขาสามารถเป็นตัวแทนพรรคคนรุ่นใหม่ได้ แต่ถ้ายังเดินอยู่ในความผิดพลาดเดิม จะทำให้ไปไม่ไกลถึงความเป็นตัวแทนนั้น อย่างเก่งคือจะมี สส. เข้าไปเยอะ แต่จะทำนโยบายอื่นที่ฝันไว้ไม่ได้
นายอรรถวิชช์ มองว่า ศาลได้ห้ามแล้ว และในเมื่อศาลห้ามแล้วก็ต้องสิ้นสุดลง แต่พอเขาเดินต่อ ซึ่งเป็นการเดินต่อในสิ่งที่ผิดมันไม่ได้ เหมือนเราดื้อแล้วเราก็ไปจนสุดทางแล้ว ซึ่งก็รู้แล้วว่าผลเป็นแบบนี้ ก็ยังเข้าสู่ทางเดิมอีก แล้วนโยบายอีกตั้งหลายร้อยนโยบายที่ต้องทำและสิ่งที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นไม่มี แล้วเขาจะเดินไปอย่างไร?
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า มาตรา 112 สามารถแก้ไข แต่ไม่สามารถนำมาทำเป็นแคมเปญได้ สมมติว่าจะรณรงค์หาเสียงในแบบของเขาแบบที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์โดนครั้งที่แล้ว ไม่ได้ แต่ว่าสามารถแก้ไขได้ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ สส. มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นก็มีสิทธิที่จะแก้ไขได้
ต้องเท้าความว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่การแก้ แต่คือการยกเลิก ซึ่งไม่มีใครทำแบบนี้ และไม่ควรทำแบบนี้ ถ้าเราดูร่างที่เขาเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่แล้ว จะมีการระบุว่า ยกเลิกมาตรา 112 ปกติแล้วหากเราจะแก้ไขมาตรา 112 เราอาจแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ถ้าโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี ยาวเกินไป อาจตัดให้เขียนว่าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ก็จะลดในมาตรานั้น
แต่วิธีการแก้ของพรรคก้าวไกลคือการยกเลิกมาตรา 112 ออกจากประมวลกฎหมายอาญา นั่นหมายความว่าหากเปิดประมวลกฎหมายอาญาจะไม่มีมาตรานี้ เขาจะย้ายออกจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐที่อยู่ในกฎหมายอาญา แล้วนำไปอยู่ที่อื่น เหมือนกับคนทั่วไป
ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ หลักการไม่มีความผิดโดยไม่มีโทษ ไม่มีโทษโดยไม่มีความผิด แปลว่าขณะนั้นการชุมนุมในท้องถนนจะถูกการนิรโทษกรรม ใครที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีติดคุกอยู่ก็ถอนออกหมด ถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องกัญชา พอกัญชาออกจากยาเสพติด การดำเนินคดีทุกอย่างออกจากคุกหมด นั่นคือสิ่งที่พรรคก้าวไกลจงใจให้เกิดขึ้น
แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยแค่ต้องการลดโทษ ดำเนินคดีอยู่อย่างไรก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่มีบทกำหนดโทษลดลง เป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเมื่อการกระทำของพรรคก้าวไกลไปสอดรับการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ที่มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ และถ้อยคำต่าง ๆ ศาลรัฐธรรมนูญจึงระบุช่วงต้นปี 2024 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง และขอให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำนั้นเสีย
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า ต่อมามีนักกฎหมายมือดีไปขอยุบพรรค พอขอยุบพรรคศาลก็ตัดสิน เหมือนกับผลออกมาโดยอัตโนมัติว่ายุบพรรคแน่ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าเขาเลือกเดินวิธีนั้น และในขณะนั้นมีคนเตือนเยอะ ตนก็บอก หลายคนก็บอก ว่าหากแก้ให้แก้ที่บทกำหนดโทษ แก้ที่คณะกรรมการกลั่นกรองได้ ก็ไม่เอา ก็จะใช้วิธีการยกเลิกเสียเลย เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินชบวนในท้องถนน
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้กรณีมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเป็นการยกเลิก และสอดรับกับการดำเนินการข้างนอก แต่หากวันนี้เขาปรับใหม่ ก็ต้องมั่นใจว่าไม่ใช่การทำแคมเปญ ถ้าแก้ให้แก้ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งครั้งที่แล้วที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าไป คนที่เสนอให้เบรกเรื่องนี้คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในขณะนั้น ซึ่งนายชวนก็ดูอยู่ว่ามีคำพิพากษาและเรื่องอื่นยันเอาไว้อยู่ หากเดินหน้าต่อก็จะกลายเป็นล้มล้างการปกครองไป
ซึ่งมาตรา 112 ก็ยังแก้ได้ ศาลไม่ได้ห้ามแก้ แต่ต้องเป็นการแก้ ไม่ใช่ยกเลิก
"พรรคประชาชน" แม้ยิ่งใหญ่ แต่ไร้เสถียรภาพ
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าตอนนี้พรรคประชาชนเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าเขาเปลี่ยนความแค้นและให้ฉีกออกไปทางสร้างสรรค์ได้ในบางเรื่อง ที่รัฐบาลมีจุดอ่อน เขานำเสนอออกมาในแต่ละเรื่องได้ดี ขณะนี้ทำนาจทางนิติบัญญัติเขายังมีอยู่ ถ้าเขาฉีกออกไปเป็นแนวสร้างสรรค์ และแสดงให้เห็นถึงสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีขึ้น ตนก็คิดว่าเป็นความหวังได้
แต่ถ้าเกิดเป็นการจำว่าต้องแก้มาตรา 112 ให้ได้ คำถามคือจะทำผิดแล้วผิดอีกเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ สส. กระโดข้ามไปเกินครึ่ง ซึ่งมากกว่าจำนวนเท่าเดิมที่ 151 ที่ถือว่าเยอะมากแล้ว ก็อาจต้องละเว้นเรื่องมาตรา 112 และเดินหน้าสู่ความเป็นพรรคสังคม เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นความหวัง เป็นแนวสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้ายังวังวนอยู่กับควมแค้นเรื่องเดิม ก็อาจดีกว่าเดิม แต่ไม่ได้โตกว่าเดิมมากนัก ถ้าจะต้องไปถึง 251 ตนคิดว่าต้องเปลี่ยนแนวรบ เปลี่ยนวิธีคิด
ซึ่งจำนวน 251 ก็ถือว่ามีโอกาสที่จะใหญ่ไปถึง 251 ก็เป็นได้ แต่เสถียรภาพอยู่ที่ไหน? ความมั่นคงอยู่ที่ไหน?
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า ต่อให้ได้ 260 หรือ 270 ที่นั่ง ก็ใช้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง ถ้าจะสามารถไปถึง 260 - 270 จาก สส. ทั้งหมด 500 คน ถือว่ายากมาก และสะท้อนได้จากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตัวเลขนายกฯ อบจ. ที่จะเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้ จะเป็นตัวบอกว่าจะได้ฐานเสียงเท่าไร
ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลลงเลือกตั้ง อบจ. สนามใหญ่ ก็แพ้ บริบทอาจเป็นบ้านใหญ่ เนื่องจากบริบทการเมืองไทยยังเป็นบ้านใหญ่อยู่เยอะ จะสามารถฝ่าบ้านใหญ่ภูมิใจไทยได้หรือไม่ จะสามารถฝ่าบ้านใหญ่เพื่อไทยได้หรือไม่ หรือจะสามารถฝ่าบ้านใหญ่หลาย ๆ ที่ได้หรือไม่
เนื่องจากการเข้าถึงประชาชนไม่ใช่แค่การพูดผ่านสื่อ หรือการมีอุดมกาณณ์แน่วแน่ แต่บางทีต้องไปทุกข์สุขของชาวบ้าน ไปถึงที่บ้านไปเคาะประตูที่บ้าน หากฐานการเมืองเข้มแข็งขนาดที่ไปเคาะประตูที่บ้านได้ ช่วยเหลือคนแบบถึงลูกถึงคนได้ แบบนั้นก็มีโอกาส แต่การเมืองยังไม่ได้ไปลึกขนาดนั้น ตนรู้สึกเสียกายโอกาส
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของพรรคก้าวไกลยิ่งใหญ่มาก แต่เรากำลังพูดถึงความยิ่งใหญ่ในระดับเกินจาก 250 เกินครึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และหากจะสามารถยิ่งใหญ่ได้ขนาดนั้นต้องรับฟังคนอื่นด้วย ถ้าพรรคประชาชนยังเอาเรื่องมาตรา 112 อยู่ ก็จะเหมือนเดิมเหมือนที่นายพิธาไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ชี้ปัจจัย ทำ "พรรคประชาชน" ไปต่อไม่ได้
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถอยู่ได้คือ หนึ่งการเมืองไทยยังเป็นการเมืองบ้านใหญ่อยู่ เป็นการเมืองแบบอุปถัมภ์ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว การที่เราจะทำให้ได้เสียงเกินครึ่งถือว่ามีโอกาส แต่ต่อให้เกินครึ่งก็ไม่มีเสถียรภาพขนาดที่จะสามารถซัดไป 300 ได้
ทีนี้ การจะไปได้ ต้องมีอะไรที่เราปลดความคาใจของคนอื่นก่อน เมื่อคนอื่นคาใจมาตรา 112 ซึ่งการแถลงของพรรคประชาชนในวันนี้กลับปรากฏขึ้นมาอีก พอมีขึ้นอีกความโดดเดี่ยวก็จะปรากฏเช่นเดิม
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคประชาชนเดินไปข้างหน้า จะเดินสู่ความยิ่งใหญ่ เป็นพรรคการเมืองที่ยิ่งใหญ่ได้เป็นเรื่องจริง แต่ก็คิดว่าแนวร่วมมีน้อย
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า มาตรา 112 มีอยู่ 3 ฐานความผิด ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นกฎหมายอื่นที่คนธรรมดาทำกับคนธรรมดาด้วยกันจะอยู่คนละมาตรา แต่นี่รวมอยู่ในมาตราเดียวกัน โทษจึงมีระยะเวลายาว แต่ทั้งนี้ศาลก็มีแนวปฏิบัติอยู่ เช่น ถ้าดูหมิ่นโดนแค่นี้ อาฆาตมาดร้ายโดนเท่านี้ ลดหลั่นกันลงไป
เพียงแต่มาตรา 112 มีข้อปัญหาคือ ไม่มีการพิมพ์คำพิพากษาศาลฎีกาลงไปในเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ทำให้วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก่อนหน้าที่ไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรอง จะดำเนินคดีไปจนสุดทาง พอมีคณะกรรมการกลั่นกรองก็จะทำให้มีกลไกของมันอยู่
เพราะฉะนั้นหากพรรคประชาชนมองในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิ ก็น่าไปดูในประเด็นพวกนี้ ไม่ใช่มาจุดเป็นประเด็นว่าปณิธานเหล่านี้ยังคงไปต่อ ต้องไปต่อด้วยใจบริสุทธิ์ ไปแล้วให้คนมีความรู้สึกว่า ปัญหานี้เราแก้โดยที่จะไม่เกิดสิ่งที่ทำให้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาทะเลาะกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความยุติธรรมได้ หากเป็นแบบนี้ก็สามารถเดินต่อได้
"ยุบแล้วโต" ไม่เป็นผลดีกับระบอบประชาธิปไตย
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า คิดว่าหัวหน้าพรรคประชาชนจะได้เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน แทนนายชัยธวัช ซึ่งตำแหน่งนี้สำคัญมาก หาก ป.ป.ช. ต้องการเร่งครื่องและชี้มูลเอาผิดเรื่องจริยธรรมกับ 30 สมาชิกพรรคประชาชน ผู้เป็นอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อีก และต้องหลุดออกไปอีก 30 คน ซึ่งเป็นผลของการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีตจนมาสะท้อนในวันนี้
นายอรรถวิชช์ มองว่า การยุบพรรคไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องดี บางคนบอกว่าไม่เป็นไร ยุบแล้วเดี๋ยวจะโต ยุบแล้วเดี๋ยวจะโต คำถามคือคนคุณภาพจะไปอยู่ที่ไหน เราจะเห็นแถว 1 คุณภาพหาย แถว 2 คุณภาพหาย ไปแถว 3 ไปแถว 4 เรื่อย ๆ มันไม่ดีกับวิถีประชาธิปไตย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นกติกา การยุบพรรคการเมืองที่เป็นเจตจำนงประชาชนนั้นไม่ดี แล้วทำไมถึงต้องให้เป็นแบบนั้น? สมัยที่แล้วบอกให้แก้เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไปแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง ไม่แก้เรื่องพวกนี้
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า นักการเมืองก็แปลกแบบนี้ บทจะให้แก้ก็ไปแก้เรื่องผลประโยชน์ตัวเองคือการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่แก้สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยเช่นเรื่องการยุบพรรค
นายอรรถวิชช์ มองว่า ต่อไปผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคจะไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่เบอร์ใหญ่ แต่การเมืองก็เป็นแบบนี้มาช้านาน แต่ใช่ว่าสมาชิกพรรคทุกคนจะไม่รู้ว่าจะไม่เจอกับอุปสรรคแบบนี้ เมื่อรู้แล้วทำไมเราต้องเดินไปยังอุปสรรคนั้นอีก
ตนรอดูว่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่จะเป็นพรรคความหวังของคนรุ่นใหม่ ที่คิดสร้างสรรค์ ทำมากกว่าโวยวาย ลงมือทำและได้ทำจริง และเชื่อมต่อคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าเราแปลงความแค้นไปต่อเป็นความสร้างสรรค์ได้ จะทำให้การเมืองไทยน่าสนใจ