รัฐสภา นัดประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ 12 – 13 กันยายน 2567 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้ยื่นต่อรัฐสภา เป็นเอกสาร 84 หน้า ในจำนวนี้เป็นคำแถลงของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จำนวน 14 หน้า ที่ประกอบด้วยนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว
"แพทองธาร" วอนฝ่ายค้าน อย่าสร้างวาทกรรมเกลียดชัง
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่าต้องขอขอบคุณทุกข้อเสนอแนะ ขอยืนยันว่าได้รับฟังทุกท่านอย่างชัดเจน นโยบายที่ถูกหยิบมาพูดในวันนี้ บางนโยบายก็ได้ทำสำเร็จลงแล้ว บางนโยบายยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
"หลายๆครั้งดิฉันเข้าใจ เข้าใจทั้งทางฝ่ายค้านอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล เพราะว่าหลายปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็จัดตั้งรัฐบาล ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จเช่นกัน แล้วพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็นั่งเป็นฝ่ายค้านด้วยกันถึง 4 ปี เราก็ยังจำได้ดี ก็เข้าใจจุดนี้จริงๆ แต่ในวันนี้ การที่พรรคเพื่อไทยถูกเลือกมา ประชาชนถึง 10.9 ล้านคน ที่เลือกเรามา นั้นก็คือเสียงของประชาชนเช่นกัน พรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ได้เสียงของประชาชน เลือกมาเช่นกัน ทุกเสียง คือเสียงของประชาชน คนไทยทั้งนั้นค่ะ ไม่มีเสียงไหน ที่มีศักดิ์ศรี หรือ ด้อยศักดิ์ศรี ไปกว่ากันและกันเลย"
นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า อยากจะขอให้ พวกเราทุกคนในที่นี้ ได้มาร่วมกัน สร้างการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ไม่สร้างวาทกรรมเกลียดชัง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในหัวข้อต่างๆ เพราะว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องประชาชนได้ ว่าการที่เรามารวมตัวกัน เราสามารถมีการเมืองที่สร้างสรรค์ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้วาทกรรมเกลียดชัง เพื่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย แล้วตอนนี้ก็ไม่ใช่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เราเองไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เราต้องมองเห็นภาพต่อส่วนรวมของประเทศ มากกว่าภาพลักษณะของเราเอง
ดีเดย์ 25 ก.ย.จ่าย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ให้ 14.2 ล้านคน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า สำหรับแอปพลิเคชันทางรัฐ วัตถุประสงค์ใหญ่สุดคือการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด และจะทำให้เราเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบกับทุกคนหายใจไม่ค่อยสะดวก จึงต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋า ความพร้อมของระบบ
“เราได้คิดแล้วว่าจะทำให้เร็วที่สุด เงินก้อนแรกนี้ น่าจะเป็น 10,000 บาทครบ และได้ดูรายชื่อแล้ว 14.2 ล้านคนเศษ น่าจะประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เราได้เช็กแล้ว 90% ผมทบทวนพร้อมกับทีมงาน น่าจะสามารถกดปุ่มเคาะระฆังให้เงินก้อนแรกไหล 25 ก.ย. โดยประมาณ”
นายพิชัย กล่าวอีกว่า จะมีคำถามต่ออีกว่ากลุ่มคนลงทะเบียนที่เหลือจะทำอย่างไร ที่ย้ำไปแล้วว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเบื้องหลังคือดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์อื่นๆ ซ่อนอยู่ด้วยเราคงจะเดินต่อไป แต่การจะเดินหน้าเฟส 2 จะจ่ายอย่างไร นอกจากดูความพร้อมของเงิน เราจะให้ความสำคัญของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบกลางให้กับการปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อนแอของประเทศก่อน เพื่อเศรษฐกิจระยะยาว และถ้ามีเงินเหลือพอจะเป็นไปได้จึงจะเจียดมาตรงนี้ เป็นการให้ความสำคัญลำดับรองลงมา ทั้งหมดอยู่ในภาพรวม หากมองภาพรวมนี้ เราต้องมีแผนที่ยืดหยุ่น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขอเรียนว่า เราต้องเปลี่ยนไป
นโยบายไม่เหมือนหาเสียง แต่เนื้อหาคล้ายกับคำพูด “ทักษิณ”
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า อดไม่ได้ที่จะขอตรวจคำแถลงนโยบายที่เหมือน GPS ที่จะพารัฐบาลไปทางไหน รัฐบาลนี้เกิดขึ้นจากการผิดคำพูด ผิดสัญญาไปหนึ่งรอบ รัฐบาลโดยแกนนำพรรคเพื่อไทยมีโอกาสจะบริหารประเทศ 1 ปี เสียใจที่ไม่สามารถส่งมอบนโยบายมาแล้ว 1 รอบ โอกาสนี้นายกนายกรัฐมนตรี ควรใช้การแถลงนโยบายเป็นกลไกที่จะช่วยคืนความเชื่อมั่น และศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับคืนมา ต้องเป็นสัญญาที่หนักแน่นว่า 3 ปี จะนำพาความก้าวหน้าอะไรมาให้ประชาชน วิธีอะไร เพราะคำสัญญาที่เป็นรูปธรรมเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลแพทองธาร ไม่ต่างจากรัฐบาลเศรษฐา ยังคงเป็น GPS ที่พาเราหลงทาง ใช้คำกว้างๆ ลอยๆ แต่วิธีทำไม่ได้บอก ชอบใช้คำว่าเร่งรัดแต่ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไร ขาดความชัดเจน แต่ให้คะแนนเพิ่มจากการอภิปรายรายละเอียดนโยบายมากกว่ารัฐบาลเศรษฐา
น.ส.ศิริกัญญษ ยังกล่าวอีกว่า อีกอย่างหนึ่งที่ตกใจมากคือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ต เดิมจะเขียนชัด เขียนครบ แต่ในการแถลงรอบนี้คำว่า 10,000 บาทหายไป หรือที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แปลงร่างเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย ทำให้นโยบายไม่ค่อยเหมือนตอนที่หาเสียงไว้ แต่กลับเหมือนที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เคยพูดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เนื้อหาตรงกันประมาณ 11 จาก 14 ประเด็น รายละเอียดเหมือนกันมาก ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องการครอบงำ แต่เป็นปัญหาคือเรื่องความรับผิดรับชอบ
“การที่ไม่รู้ว่าตกลงใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนวางนโยบาย ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากมาก ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดนโยบายตัวจริง ไม่รู้ว่าพอมีปัญหาต้องไปถามใครหรือเชื่อใครกันแน่ แบบนี้ต่อไปการประชุมคณะรัฐมนตรีอาจเป็นแค่พิธีกรรมเพราะเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ อาจไม่ได้ถูกตัดสินใจบนโต๊ะประชุม ครม. แต่ถูกตัดสินใจมาแล้วจากที่อื่น และเราไม่มีทางรู้เลยว่าใครคือตัวจริง”
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนหน้านี้เคยอภิปรายครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ ล่าสุดเปลี่ยนเป็นรอบที่ 7 เช่น แหล่งที่มาของเงินกลายเป็นว่าจะใช้งบกลางปี 67 มีเท่าไรเอามาแจกก่อนเป็นเงินสด ส่วนที่เหลือพยายามจะเบ่งงบปี 68 ด้วยการกู้เพิ่ม ตัดลดงบที่ใช้ชำระหนี้ธนาคารรัฐ ทำขนาดนี้ก็ยังได้เงินไม่พอที่จะจ่ายให้ครบ 45 ล้านคน จึงบอกว่าจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ถ้าระบบชำระเงิน openloop เสร็จทัน จะแจกเป็นเงินดิจิทัลแต่ถ้าไม่ทันจะจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งตนขอยังไม่เชื่อและอยากรู้ว่าสุดท้ายโครงการนี้จะไปจบที่ตรงไหน
น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลเห็นตรงกันว่าต้องเร่งปรับโครงสร้าง รวมทั้งการเพิ่มทักษะจะต้องปรับแรงงานทั้งระบบไม่ใช่เพียงเพียง Soft Power แรงงานทั้งประเทศ 40 ล้านคน มีอยู่ 24 ล้านคน จบการศึกษาต่ำกว่า ม.ต้น เราไปต่อไม่ได้หากแรงงานมีทักษะเพียงเท่านั้น การกระจายความเจริญ ไม่ใช่เพียงในกรุงเทพฯ เพราะยังมีอีกหลายที่ศักยภาพการโตต่ำ ซึ่งการกระจายอำนาจจะสามารถทำให้มีความเจริญเติบโตมากขึ้น นี่คือความท้าทายในการปฏิรูประบบราชการ เรากำลังเจอกับรัฐราชการรวมศูนย์ อุ้ยอ้าย ไร้ประสิทธิ นายกฯ ต้องรู้ซึ้งกว่าตนแน่นอนเพราะที่ผ่านมา นายกฯ คนก่อนก็ออกข้อสั่งการเกือบ 200 หน่วยงาน แต่มีหน่วยงานสนองกลับมาเพียง 10 เท่านั้น
พปชร.ประท้วงกันเอง! ก๊วนฝ่ายค้านอัดรัฐบาลตระบัดสัตย์
นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หลังจากได้ทราบข่าวว่านายกรัฐมนตรีชื่อ น.ส.แพทองธาร ก็นึกถึงประโยคที่ว่า คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมาตอกย้ำในการแถลงนโยบายอีก ความหวังของคนไทยเริ่มเรืองรอง แต่หลังจากเห็นชื่อคณะรัฐมนตรีปรากฎออกมา ความหวังก็เริ่มเลือนราง
เราเห็นรัฐมนตรีคนเก่า 70-80% เหมือนเล่าเก่าในขวดใหม่ที่เขียนฉลากเพิ่มเติม มีบ้างที่พ่อแทนลูก ลูกแทนพ่อ น้องแทนพี่ คนเหล่านั้นไม่ใช่ว่า ไม่ใช่คนดี อาจจะเป็นคนดี แต่จะสามารถบริหารราชการแผ่นดินที่มีเดิมพันด้วยประชาชนคนไทย 70 กว่าล้านคนได้หรือไม่
ครม.ประกอบไปด้วยหลายสัดส่วน ไม่ว่าจะสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ ผลพวงจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีจุดยืนว่าอำนาจรัฐต้องมาจากปลายกระบอกปืน มาจากรัฐมนตรีอาชีพที่เลือกเป็นรัฐมนตรี 17-18 สมัย ส่วนคนใหม่ก็สืบทอดโดยสายเลือด สื่อมวลชนขนานนาม ครม.ชุดนี้ว่า ญาติกา , ผู้สืบสันดาน ทำให้ปลายทางรัฐบาลไม่ได้เห็นหวังผลประการใด
อย่างไรก็ตาม ไม่แปลกใจ เพราะนโยบายรัฐบาลชุดนี้ไม่ต่างจากชุดที่แล้ว และมีต้นทางจากพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน นโยบายเรือธง Entertainment Complex บอกจะสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น เก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีการจ้างงาน คนไทยเป็นคนแจกไพ่ แรงงาน คนต้อนรับ กลายเป็นนโยบายจากชนชั้นนำเพื่อทุนขนาดใหญ่
ทั้งหมด จึงไร้ความหวังจากพฤติกรรมที่ทำ แต่หากอ่านตามนโยบายที่เขียนไว้ก็ขอชื่นชม ส่วนการแจกเงินหมื่นบาทได้วางแผนไว้ดีหรือไม่ จะไม่เป็นการส่งเสริมสินค้าต่างชาติราคาถูกที่มาทำลาย SMEs ใช่หรือไม่
นายชัยมงคล กล่าวว่า เมื่อมองที่มาของการตั้งรัฐบาลแล้วคือการตระบัดสัตย์ มีที่ไหนพรรคที่ยกมือให้ 39 เสียง บอกไปเป็นฝ่ายค้าน เปรียบเสมือนว่า ไปหุงข้าวมาด้วยกันพอเวลาข้าวสุก ข้าพเจ้าขอกินคนเดียว แต่พรรคที่งดออกเสียงเชิญมาเป็นรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นประท้วง พร้อมระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อนสมาชิกก็ทำผิดข้อบังคับในการพูดจาเสียดสีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนตัวก็แปลกใจว่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ นโยบายฉบับนี้คงเห็นด้วย แต่ไม่รู้เป็นวันนี้เหมือนกับเปลี่ยนใจ จึงอยากให้ประธานกำชับสมาชิกได้ปฏิบัติตามข้อบังคับด้ว
ทำให้ นายชัยมงคล กล่าวอีกว่า วันนี้ตอบเลยก็ได้ ว่าทำหน้าที่ในฝ่ายค้าน มีหน้าที่ในกรตรวจสอบรัฐบาล นักการเมืองไม่สนใจหรอกว่า จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ขอแค่ทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่อยากเห็นรัฐบาลชุดนี้ มาจากรัฐบาลชนชั้นสูงเพื่อชนชั้นสูง อาศัยมือของประชาชนในคราบประชาธิปไตยแล้วอ้างประชาชน แล้วมากอบโกยผลประโยชน์อยากตะกละตะกลามและมูมมาม
จากนั้น นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิ์ประท้วงขอให้ นายชัยมงคล ถอนคำพูดที่ว่า กอบโกย และชนชั้นสูง ทำให้ นายชัยมงคล ยอมถอนคำพูด ระบุว่า เพื่อเป็นความสบายของเพื่อนสมาชิก
ขอบคุณนายกฯ "อิ๊งค์" ไม่เอากัญชากลับบัญชียาเสพติด
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่บรรจุนโยบาย 6 ด้านของพรรคเป็นนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความหวัง สร้างโอกาส สร้างอนาคต เพื่อสร้างความสุขให้คนไทย
“ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจไม่สร้างปัญหาด้วยกัญชา ด้วยการเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่มองเห็นประโยชน์ทางการแพทย์ และจะใช้นโยบายควบคุมด้วยการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา”
นายกรวีร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่จะมีการส่งเสริมการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man made destination) รวมถึงสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พรรคภูมิใจไทยอยากกย้ำจุดยืนว่า เราไม่ได้ขัดข้อง และเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการควบรวมสถานบันเทิงเริงรมย์ทั้งหมด อาทิ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก สวนน้ำ ผับ นวด หรือแม้กระทั่ง sex worker นำสิ่งที่เคยหลบๆซ่อนๆ แต่เราเห็นจนชินตา หรือสิ่งไหนที่ต้องจ่ายส่วยใต้โต๊ะ เอาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบนดิน มารวมเป็นแหล่งบันเทิงและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
นายกรวีร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเราไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินหมื่นล้านบาทไปลงทุนแค่ 1-2 ที่ ไม่อยากเห็นการลงทุนขนดใหญ่ กระจุกในหัวเมืองไม่กี่เมือง แต่อยากเห็นการลงทุนกระจายหัวเมืองเล็ก หรือต่างจังหวัด ให้เขามีโอกาสกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ ส่วนเรื่องจัดเก็บรายได้ อยากเห็นการจัดเก็บภาษีสิ่งเหล่านี้ นำไปช่วยประชาชนในด้านอื่น
ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องการพนัน ไม่ได้พูดกาสิโนแม้แต่คำเดียวในสถานที่แห่งนี้ เพราะมันแยกกัน ผมคิดว่าแนวทางรัฐบาลก็แยกเหมือนกัน ต้องขอชื่นชมรัฐบาล เพราะตั้งแต่เล็กจนโตพวกเรารู้หมดว่าสิ่งที่เป็นเศรษฐกิจใต้ดิน สีเทา อยู่ในที่มืด เรารู้ว่ามันมี แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่จะหยิบขึ้นมาบนโต๊ะ
เปิดภาพดาวเทียม น้ำท่วมเชียงราย-เชียงใหม่ 86,438 ไร่
ไต้หวันระงับใช้งานเครื่องบินมิราจ 2000 หลังตกทะเล
จี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหายาเสพติดให้ตรงจุด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายตอนหนึ่งว่า ปัญหาที่กำลังคุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยและส่งผลร้ายระยะยาวคือปัญหายาเสพติด หรือยาบ้า แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่เห็นความชัดเจนใดทั้งจากรัฐบาลก่อน รวมทั้งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยการดำเนินการของรัฐบาลที่แล้วตั้งเป้าแก้ปัญหายาเสพติดภายใน 90 วันแต่ผ่านไป 84 วันยังสารวนอยู่กับการแก้กฎกระทรวง การเบิกจ่ายเงินเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน สะท้อนว่านโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลเดิมเป็นแบบคิดไปทำไป ดังนั้นหวังว่ารัฐบาลนี้จะไม่ทำอย่างนั้นอีก
ทั้งนี้การแก้ปัญหายาเสพติดรัฐบาลจะต้องคลายทั้ง 3 ปม คือ 1.การแก้ปัญหายาเสพติดต้องจับรายใหญ่ แล้วยึดทรัพย์ ส่วนตัวเล็กตัวน้อยต้องเอาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู อย่าหลอกประชาชนด้วยจำนวนคดี และผู้ต้องหา แต่เต็มไปด้วยปลาซิวปลาสร้อย ไม่สามารถขยสยผลไปถึงตัวการใหญ่ได้ ดังนั้นการจับรายเล็กรายน้อยไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ และมีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดกลับไปเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดสูงถึง 76.9% กลายเป็นการเพิ่มแรงงานให้กับธุรกิจเครือข่ายยาเสพติด สร้างเครือข่ายยาเสพติด เรือนจำกลายเป็นศูนย์อัพสกิลให้กับเอเยนค้ายาเสพติด
เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในคดีเสพและครอบครองไว้เพื่อเสพ รวมค่าสูญเสียโอกาสในการทำงานของผู้ต้องขัง เท่ากับว่าในปีหนึ่งๆมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการจับตัวเล็ดตัวน้อยไปขังคุก รวมๆแล้วอาจมีมูลค่าสูงถึง 9 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ถ้า 1 แสนล้าน เอาไปแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท แจกได้ 10 ล้านคนแล้ว
2.รัฐบาลต้องใส่ใจการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดให้มากกว่านี้ ปัจจุบันยังไม่มีการส่งเสริมให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจอย่างจริงจัง ทั้งที่ขีดความสามารถในการบำบัดยังสามารถรองรับได้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลยังขาดการจูงใจผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูอย่างที่ควรจะเป็น และไม่มีกระบวนการติดตามผู้ติดยาเสพติดให้กลลับมาบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังขาดงบประมาณสนับสนุนสถานบำบัดฟื้นฟู
รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับดารบำบัดฟื้นฟูให้มากกว่านี้ เพื่อลดอุปสงค์ของยาเสพติดลงให้ได้ หากทำแต่ปาหี่จับให้ได้ยอด จับแต่ไม่บำบัด ก็จะวนกลับมาเสพไม่จบไม่สิ้น จับแล้วจับอีก
และ 3.รัฐบาลต้องใส่ใจกับการยึดอายัดทรัพย์เครือข่ายพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ถึงจะตัดอุปทานยาเสพติดอย่างได้ผล เพราะพ่อค้ายาเสพติดไม่ได้กลัวคุกแต่กลัวถูกยึดทรัพย์ ทั้งนี้การตัดอุปทานยาเสพติดที่ได้ผลที่สุดต้องจัดการกับพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งต้องย้ำว่าสิ่งที่พ่อค้ายาเสพติดกลัวที่สุดก็คือการยึดทรัพย์ หากพ่อค้ายาเสพติดสิ้นเนื้อประดาตัว ความมั่งคั่งที่สะสมก็จะหายไป ลูกสมุนก็จะหายไปเอง และจะไม่มีทุนรอนกลับมาตั้งตัวค้ายาเสพติดใหม่
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะสามารถยึดอายัดทรัพย์คดียาเสพติดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงสุดในปี 2566 ยึดทรัพย์ได้ประมาณ 15, 721 ล้านบาท แม้การยึดทรัพย์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับปริมาณยาบ้าของกลางที่จับได้ จะพบว่าการยึดทรัพย์ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างได้สัดส่วน หากการยึดอายัดทรัพย์มุ่งเน้นพ่อค้ารายใหญ่ มีการพัฒนาระบบการสืบทรัพย์ให้เท่าทันกับเทคนิคในการซุกซ่อนทรัพย์สิน มูลค่าการยึดทรัพย์แต่ละปีควรแตะระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากรัฐบาลยึดทรัพย์พ่อค้ารายใหญ่อย่างจริงจังจะทำให้มีเงินไปสนับสนุนการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จะแก้ไขปัญหายาเสพติด นายกฯต้องจับตัวใหญ่ ไม่ใช่จับตัวเล็กมาตีตราทำยอด ผู้เสพต้องได้รับการบำบัด ผู้ค้าต้องตามยึดทรัพย์ให้หมดกลายเป็นยาจกให้ได้ ถึงจะแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับประเทศนี้ได้
อัดรัฐบาล “1 ปีสูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง”
พรรคประชาชน ที่มีธีมการอภิปราย “1 ปีสูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง” เริ่มโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเป็น 1 ปีที่สูญเปล่าจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ไม่มีประชาชนในสมการ และ 3 ปีจากนี้เป็นรัฐบาลที่จะเรียกเล่นๆว่า รัฐบาล 3 นาย คือ นายใหญ่ นายทุน นายหน้า ไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากเรายังอยู่ในระบบการเมืองแบบนี้ พวกท่านกำลังสยบยอมกับนิติสงครามที่ทำให้หลักนิติธรรมนิติธรัฐของไทยจนหมดสิ้น
วันนี้ครบรอบ 1 ปี คนไทยได้อะไรจากรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คนยากไร้เจอสัญญาที่ให้ไว้เงินใหม่ยังไม่เข้า หนี้เก่ายังไม่แก้ เกษตรกรเจอปัญหาหมูเถื่อน ปลาหมอคางดำ ภาคธุรกิจเจอต้นทุนพลังงาน คนทั่วไปขาดความมั่นคงในชีวิต รัฐบาลขาดอำนาจนำในการบริหารราชการแผ่นดิน
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตอนหาเสียงบอกว่าจะแจกทันที แต่ถึงวันนี้เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนวันนี้ยังไม่จ่าย ตอนแรกบอกจะให้พร้อมกัน สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก็ปรับแผนเป็นทยอยจ่าย จ่ายเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้จ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ที่มุ่งหวังจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล นอกจากนั้นยังบอกว่าจะใช้บล็อกเชนในการตรวจสอบว่าเงินจะไหลไปทางไหน แต่วันนี้เริ่มไม่แน่ใจ สรุปนโยบายเรือธงลำนี้ แทบไม่เหลือเค้าโครงอะไรอีกแล้ว ไม่แน่ใจว่าเรือธงลำนี้ให้ใครขึ้น ประชาชนหรือนายคนไหนขึ้น
นโยบายแก้หนี้ รัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงข่าวใหญ่โตจะแก้หนี้ แต่หนี้ครัวเรือนล่าสุด 90.8% ของจีดีพีเป็นยอดหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีแนวโน้มลดลง หลายส่วนยังมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเป็น NPL รวมถึงยังมีกลุ่มยานยนต์ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
เกษตรกรไทย กว่า 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน มีหนี้สินล้นตัว รัฐบาลประกาศว่าจะทำรายได้เพิ่ม 3 เท่าใน 4 ปี แต่ผลที่ได้คือมีปัญหาหมูเถื่อน ปลาหมอคางดำ ทำลายโครงสร้างผลิตผลทางการเกษตร ตัวเลขระดับมหภาค 3 ไตรมาสของการทำหน้าที่รัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ ตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรลดลง 3 ไตรมาสติด
ภาคธุรกิจ รัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ แต่ปัจจุบันราคาพลังงานยังแพงอยู่ และรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการติดหนี้การไฟฟ้ารวม 1 แสนล้านบาท สุดท้ายต้องใช้ภาษีประชาชนเข้ามาใช้หนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อสั่งการที่มีผลเทียบเท่ามติ ครม.ออกไปทั้งสิ้น 193 เรื่องส่งต่อ 251 หน่วยงานรัฐ มี 162 เรื่องที่มได้กำหนดกรอบเวลา ทำให้มีแค่ 10 เรื่องที่หน่วยงานตอบกลับและรายงานต่อนายกรัฐมนตรี สถิตินี้แสดงให้เห็นว่า หากไม่ใช่เพราะอดีตนายกฯ ไม่เข้าใจกลไกระบบราชการ หรือเป็นอีกแบบ ก็เพราะรัฐบาลขาดอำนาจนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะนายกฯ สั่งอะไรไป แต่ราชการไม่ปฏิบัติตาม ชวนให้คิดว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากนโยบายเร่งด่วน อีกส่วนที่มีความสำคัญคือนโยบายเรือธง ที่เรามีคำถามว่า นโยบายเพื่อใครหรือเพื่อ 3 นาย นายใหญ่ นายหน้า และนายทุน
ยกตัวอย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการกลับไปกลับมา สงสัยว่าเป็นนโยบายให้นายใหญ่ขึ้นใช่หรือไม่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีข้อครหาว่าจะเปิดกว้างในการประมูลหรือล็อกเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นนโยบายเรือธงให้กับนายทุนใช่หรือไม่ รวมถึงแลนด์บริดจ์ที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการใช้งบของรัฐเวนคืนที่ดินมากมาย ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นนโยบายเอื้อนายหน้าค้าที่ดินหรือไม่ สรุปนโยบายเรือธงมีประชาชนตรงไหนในสมการ เป็นสิ่งที่อยากได้คำตอบ
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึง อยากให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงนอกสคริปต์ที่เตรียมมา อยากให้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ นอกจากรับฟังความเห็น ผู้นำที่ดีต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้เพื่อนสมาชิก อยากให้ชี้นำรัฐบาลและลุกขึ้นตอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้ ไม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขรายมาตรา ที่ควรเป็นเรื่องด่วน 4 เรื่อง ประกอบด้วย แก้ไขมาตรฐานจริยธรรม , ยกเลิกกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. , เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร
10 เรื่องเร่งด่วน มี "ดิจิทัลวอลเล็ต"
เมื่อเวลา 09.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดประชุมรัฐสภา พร้อมแจ้งต่อที่ประชุมถึงการจัดสรรเวลาในการอภิปรายตลอด 2 วัน แบ่งเป็น ประธานที่ประชุม 1 ชั่วโมง , นายกรัฐมนตรีและคณะ 6 ชั่วโมง , สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 4 ชั่วโมงครึ่ง , พรรคร่วมรัฐบาล 4 ชั่วโมงครึ่ง , พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง
ต่อมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อ่านคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ที่ประกอบไปด้วยนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลาง และนโยบายระยะยาว พร้อมระบุในช่วงท้ายว่า ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต
โดยนโยบายเร่งด่วน เป็นประเด็นเกี่ยวกับการเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ การแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัยหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม รวมถึงโครงการสำคัญของ “ดิจิทัลวอลเล็ต” โดยแบ่งเป็นรายละเอียด 10 ข้อ ดังนี้
- ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
- ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ SMEs ไทย
- เร่งออกมาตราลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค
- ดึงเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี
- ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
- เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผล
- ส่งเสริมการท่องเที่ยว
- ปราบปรามยาเสพติดครบวงจร
- แก้ปัญหาอาชญากรรมและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- จัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม - ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
ขณะที่นโยบายระยะยาวและระยะยาว ที่รัฐบาลจะต่อดยอดการพัฒนาภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้
- สร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยเฉพาะการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
- ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ รวมถึงการประกาศตัวเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ทั้งด้านคมนาคม ด้านวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนั้นยังรวมถึงการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ให้ความสำคัญกับกระจายรายได้ ที่มีเป้าหมายดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษี
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน - ต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่
นอกจากนั้นในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร” จะกล่าวถึงการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่การส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างงาน ยกระดับระบบสาธารณสุขผ่านการต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ รวมถึงการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
ส่วนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ
เช่นเดียวกับนโยบายที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและต่างชาติ ผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยึดมั่นหลักนิติธรรม ปฏิรูประบบราชการและกองทัพ ยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน
ส่วนนโยบายด้านการต่าปงระเทศ เน้นไปที่ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจที่จะเปลี่ยนเป็นยุทธศาสตร์เสริมสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย