กลายเป็นประเด็นที่หลายคนเห็นตรงกันว่า ควรจำกัดขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งวันนี้ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดโต๊ะข่าว พีพีทีวีไว้อย่างน่าสนใจ
โดยศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องมาตรฐานจริยธรรม โดยอธิบายว่า ความคิดและมาตรฐานนี้ ไม่เคยเอามาใช้ในแวดวงการเมืองไทย แต่เป็นมาตรฐานที่ใช้ในแวดวงตุลาการ มากว่า 20-30 ปีแล้ว โดยมีหลักว่า เจ้าหน้าที่ทั่วไป ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซ่อนเร้น
รู้จัก "รัฐจ่าย" แอปพลิเคชันตรวจสอบสิทธิรับเงิน 10,000 บาท
ตรวจสอบสิทธิกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ รับเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต
สงครามอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ เข้าสู่โหมด “ชำระแค้น”
ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่มีหน้าที่ดูแลพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทั่วไป เช่น รัฐมนตรี, ตุลาการ, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, เจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ หรือผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบความซื่อสัตย์หน่วยงานอื่น จำเป็นต้องมีมาตรฐานสูงกว่า คือ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องทำให้ประชาชน เชื่อถือว่าซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้มีเงาให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจ
ซึ่งมาตรฐานจริยธรรม เพิ่งเริ่มนำเข้ามาบัญญัติไว้ในแวดวงการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงทำให้เกิดความไม่รู้ แม้กระทั่งนักการเมือง สส. สว. เองก็ไม่เข้าใจ
ส่วนที่ว่านับรวมตั้งแต่สมัยเป็นเด็กเลยหรือไม่ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ บอกว่า การที่เหมารวมจริยธรรมตั้งแต่เด็ก เป็นการตีความที่ผิด มาตรฐานจริยธรรม จะเริ่มนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งในระดับสูงแล้ว โดยเคสแรกที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง ไม่มีพฤติกรรมให้หวาดระแวงว่าจะผิดจริยธรรม แต่เมื่อเป็นนายกฯ ได้เสนอแต่งตั้งบุคคลที่รู้อยู่แก่ใจว่าเสี่ยงผิดจริยธรรม ให้ขึ้นเป็นเสนาบดี เหนือกว่า สส. ข้าราชการทั่วไป จึงถูกวินิจฉัยให้ลงจากตำแหน่งนายกฯเพราะความซื่อสัตย์สุจริตไม่เป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ มองว่า การเสนอแก้กฎหมายเรื่องจริยธรรมขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเรื่องดี คนจะได้ไม่เข้าใจผิด ไปขุดเอาพฤติกรรมตั้งแต่สมัยเป็นเด็กมาร้องเรียน
ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ยังบอกอีกว่า ถ้ามีการเขียนกฎหมายแบบนี้ คนจะได้เข้าใจตรงกัน ไม่ตีความผิดเพี้ยนไปไกล ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมนี้ ถือเป็นมาตรฐานสากล ใช้ในแวดวงกฎหมายพาณิชย์ และแวดวงธุรกิจ ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถึงอย่างไร ก็จำเป็นต้องมีผู้วินิจฉัยที่เป็นกลาง ไม่เอนข้าง ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องเป็นอิสระ
ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ บอกด้วยว่า เห็นด้วยที่ให้ยกเลิกยุบพรรคการเมือง เพราะการไปเขียนกฎหมายให้ศาลพิพากษา ยุบพรรคการเมือง ทำให้ศาลตกเป็นที่โกรธแค้นของสมาชิกพรรคการเมือง ถ้าอยากจะยุบพรรค ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ แนะนำ ให้เขียนกฎหมายยุบพรรคไปเลย แล้วให้พรรคที่ถูกยุบ อุทธรณ์มาที่ศาล แล้วศาลจะวินิจฉัยเป็นคนกลางให้ หรืออาจใช้กลไกก่อนมาถึงศาล เพราะทำให้ศาล คล้ายเป็นหนังหน้าไฟ และในที่สุดควรต้องสร้างกลไก กฎเกณฑ์ ให้ใครวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาที่ศาล เหมือน ป.ป.ช. ที่ชี้มูลว่าใคร คนที่ถูกชี้มูล ก็จะอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครอง ว่าป.ป.ช.วินิจฉัยถูกต้องไหม ถ้าไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิพากษาเพิกถอน
ซึ่งที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า การยุบพรรคการเมือง ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษ ที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกสังคมตัดสิน ทั้งที่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายที่เขียนไว้
“ฉะนั้น ยกเลิกเถอะครับ ยุบพรรคการเมือง พิสูจน์มาแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์ มีแต่โทษที่เกิดจากศาลเอง แล้วประชาชนก็ไม่เข้าใจ แม้แต่นักการเมืองก็ไม่เข้าใจ ว่าศาลไปพิพากษา เพราะกฎหมายเขียนมา แล้วศาลจะทำอย่างไร เพราะถ้าศาลตัดสินผิดกฎหมาย ก็โดนเหมือนกัน”ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ กล่าว