นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี หรือ “หมอวรงค์” ได้เดินทางไปที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด เพื่อรณรงค์ขอ 100,000 รายชื่อคนคลั่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูดและสมบัติชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ nationalist.onrender.com โดยมี 3 ข้อเสนอคือ
1. ให้รัฐบาลยกเลิก MOU2544 โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของประเทศ
2. รัฐบาลควรประกาศไม่ยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ประกาศในปี พ.ศ.2515 เพราะไม่มีหลักการทางกฏหมายทะเลระหว่างประเทศ และเป็นการอ้างสิทธิ์ที่เกินสิทธิ์ และใช้แผนที่แบ่งเขตทางทะเล เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ที่ UNCLOS ประกาศเป็นแนวทางเจรจา ถ้าต้องมีการเจรจา
3. รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมแบ่งปันทรัพยากรใด ๆ ในพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ให้กัมพูชา แต่จะต้องเจรจาเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะถ้ามีการแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนการเจรจาดินแดน จะนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในอนาคต
หมอวรงค์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลไทยไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีป (เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล) ที่กัมพูชาประกาศขึ้น ก่อให้เกิดเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรระหว่างเส้นเขตไหล่ทวีปตามอำเภอใจของกัมพูชาในปี พ.ศ.2515 กับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ไทยประกาศในปี พ.ศ.2516 โดยยึดหลักการตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ตรงไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชาตรงออกไปกลางอ่าวไทย
ดังนั้น การที่ MOU 44 ไปยอมรับการลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาผ่านเกาะกูด แม้เป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา แต่เป็นการอ้างสิทธิที่เกินสิทธิ และไม่ถูกต้อง การที่ MOU 44 ไปยอมรับการมีอยู่เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงและย้อนแย้งกับสิทธิของเกาะกูด ที่จะต้องมีเขตทะเลอาณาเขต เขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล
นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า และตามหลักการใน MOU 44 ได้แยกพื้นที่ทับซ้อนเป็น 2 ส่วน โดยกำหนดพื้นที่ส่วนบนให้เป็นพื้นที่เจรจาเขตแดน ส่วนพื้นที่ส่วนล่างเป็นพื้นที่หาผลประโยชน์พัฒนาร่วม โดยกำหนดให้ทั้งสองส่วนนี้จะต้องทำไปพร้อมกัน แยกส่วนไม่ได้ ซึ่งตามหลักการ ควรจะต้องเจรจาเขตแดนให้ชัดเจนเรียบร้อย ทั้งส่วนบนและส่วนล่างเสียก่อน จึงจะเป็นการปกป้องรักษาดินแดน และผลประโยชน์ของประเทศไทยที่ดีที่สุด และการที่ MOU 44 ไปยินยอมให้มีการเจรจาผลประโยชน์พัฒนาร่วม โดยไม่สนใจเจรจาเขตแดนก่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจต้องเสียประโยชน์ด้านพลังงาน ทั้งๆ ที่ส่วนนี้น่าจะเป็นของประเทศไทยมากกว่า และนำไปสู่การเสียดินแดนทางทะเลได้ในอนาคต
นอกจากนี้ หมอวรงค์ กล่าวอีกว่า แม้ในMOU 44 จะยอมให้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อเจรจาเขตแดน แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS อ่านว่า อันครอส) ซึ่งอาจทำให้เป็นข้ออ้างของกัมพูชา และมีอุปสรรคต่อการเจรจาเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจะเจรจาด้วยหลักการอะไร ไทยควรเรียกร้องให้กัมพูชาลงสัตยาบัน UNCLOS เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการเจรจา
ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยไปยอมกัมพูชาทุกอย่าง ยอมแม้การอ้างสิทธิไหล่ทวีปอ้างเกินสิทธิ ผ่านเกาะของไทยเอง โดยหลักแล้วไม่มีประเทศไหนเขายอม ยิ่งสะท้อนว่า รัฐบาลสนใจแต่ประโยชน์ด้านพลังงาน เร่งที่จะเอา โดยไม่สนใจประโยชน์ส่วนใหญ่ควรเป็นของไทย
นอกจากนี้ หมอวรงค์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กอีกว่า เหนื่อยใจกับนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เพราะจากการให้สัมภาษณ์ เรื่องเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปที่บอกว่า ทางกัมพูชาขีดได้เว้นอ้อมเกาะกูดชัดเจน นั้น ฟังแล้วก็รู้ว่านายกฯ ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทันเกม แถมดีใจที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปอ้อมเกาะกูด
แต่นายกฯ ไม่รู้เลยหรือว่า การลากเส้นอ้อมเกาะนี้ ทั่วโลกเข้าไม่ยอมรับ มีแค่ไทยที่ยอมรับ วันนี้กัมพูชายังไม่ต้องการเกาะกูด แต่เขาลากเพื่อต้องการส่วนแบ่งพลังงาน และส่วนแบ่งพื้นที่ทางทะเล จึงเหนื่อยใจทุกครั้งที่เห็นนายกฯ ให้สัมภาษณ์ เพราะนายกฯ ไม่ได้ตกผลึกความคิดเอง ได้แต่ท่องจำมา จึงมองไม่ออกว่าจะนำพาประเทศไทยได้อย่างไร