จากกรณีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯและนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้วนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงกรณีแนวคำวินิจฉัย การเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือ ที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำให้เป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนด เมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องตกแก่วัด ไม่มีอะไร ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ก็เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งก็ต้องไปว่ากันอีกรอบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบว่า มีการจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว รัฐบาลต้องเสียเงินชดเชยให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริตว่า คำสั่งทางปกครองที่ออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนกรณีงบประมาณที่จะนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น นายปกรณ์ ระบุว่า ยังไม่ทราบว่า จะนำมาจากส่วนใด แต่หากจำเป็นจะต้องแก้ไขเยียวยา ก็สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้
เมื่อถามต่อว่าส่วนการใช้งบปกติไม่จำเป็น ต้องของบกลางจากรัฐบาลใช่หรือไม่นั้น นายปกรณ์ ระบุว่า งบปกติน่าจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งงบไว้ เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ตนเข้าใจว่าอย่างนั้น จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่า มีแหล่งเงินจากที่ใดบ้าง พร้อมกับกล่าวว่า แม้วงเงินในการเยียวยาจะสูง แต่ตนคิดว่า มีหลายวิธีที่จะแก้ไข ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดิน มาแนะนำว่า จะหาทางแก้อย่างไร
ส่วนประเด็นปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่า ถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสีย และหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบสุจริตต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากันในทางกฎหมายมีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน