28 ม.ค. 68 นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. เปิดเผยในรายการเปิดโต๊ะข่าว PPTV HD36 เกี่ยวกับงบประมาณ 140 ล้าน แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมตั้งคำถามว่า งบฯ ดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้จริงหรือไม่
นายสกลธี ระบุว่า การใช้งบประมาณ 140 ล้านบาทในโครงการให้ประชาชนนั่งรถสาธารณะฟรี รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสีชมพูฟรี เป็นเวลา 1 สัปดาห์นั้น อาจไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
โดยเฉพาะเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีผู้ใช้งานสูงสุดถึง 1 ล้านคนต่อวัน ไม่ได้รวมอยู่ในโครงการนี้ ซึ่งนายสกลธี ยกตัวอย่างต่อว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คนใช้เฉลี่ยประมาณ 500,000 คน ต่อวันธรรมดา แต่สายสีเขียวมีประมาณ 1 ล้านคนซึ่งเป็นสองเท่า คิดง่าย ๆ ตัวที่ไม่ใช่สีเขียวใช้ 140 ล้าน ถ้าสีเขียวก็ต้องเป็น 280 ล้าน ตนคิดว่ารัฐบาลต้องบอกความจริงแก่พี่น้องประชาชนให้ชัดเจนก่อน
เรื่องที่สอง คือ ต้องดูว่าได้ผลแค่ไหน สมมติว่าพอนั่งรถฟรีแล้วฝุ่นดีขึ้นเลย ถ้าอย่างนั้นปักกิ่งคงต้องมาดูงานของเรา ว่าเราทำได้ขนาดนี้ เพราะเขาใช้เวลาถึง 5 ปี ในการทำให้ฝุ่นลดลง 30% ของเราพอประกาศแล้วลดเลย งั้นทั่วโลกคงต้องมาดูงานที่เรา
นายสกลธี ยังตั้งข้อสังเกตว่า การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าควรรอให้ครบทั้ง 7 วัน เพราะตัวเลขการเดินทางในวันเสาร์-อาทิตย์ อาจต่างจากวันธรรมดาที่คนใช้เดินทางไปทำงาน ซึ่งตนกังวลว่าโครงการนี้อาจไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง หากไม่มีการพัฒนาขนส่งสาธารณะในส่วนอื่นให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกขึ้น
ในส่วนของเครื่องมือใน กทม. จะสามารถวัดได้ไหมว่ารถในถนนมากขึ้นหรือน้อยลง นายสกลธีตอบว่า วัดได้ แต่ต้องมีโปรแกรมหรือ AI ในการประมวลผลด้วย ซึ่งในช่วงสามปีที่ผ่านมา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ฉะนั้น เรื่องการใช้ AI มาวัด คำนวณการจราจร หรือปล่อยสัญญาณ ไม่มีแน่นอน อาจจะนับได้บางช่วง เพราะกล้องส่วนใหญ่ของ กทม. เป็นกล้องภาพนิ่ง จะเห็นเฉพาะการจราจรตรงจุดนั้น ๆ ไม่สามารถประมวลผลอะไรได้มาก
ฉะนั้นก็วัดไม่ได้ ว่า 140 ล้านที่ลงทุนไปจะสำเร็จไหม ตนถึงบอกว่าถ้าอยากจะให้การใช้รถสาธารณะเยอะขึ้น ต้องเริ่มจากการทำขนส่งสายรองให้คนสะดวกมากขึ้น ที่พอนั่งรถไฟฟ้า ก็สามารถนั่งรถเมล์ หรือเรือต่อไปยังจุดหมายได้ง่ายขึ้น ต้องทำควบคู่กัน หากจะให้ใช้แค่รถไฟฟ้าฟรี ตนคิดว่าไม่ตอบโจทย์ สมมติจะมีการต่ออายุขึ้นมาสักปี ต้องใช้งบเกือบ 2 หมื่นล้านแน่นอน
ซึ่งงบนี้ สามารถสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มได้อีกสาย หรือนำไปพัฒนาส่วนอื่น ไปรับซื้อสินค้าเกษตรจากคนที่ห้ามเผาได้เลย ไม่ใช่ว่าให้ขึ้นรถฟรีแล้วจะแก้ปัญหาได้ อย่างปักกิ่งเขาทำหลายอย่างและใช้เวลา 4 - 5 ปี กว่าจะเริ่มเห็นผล
ทว่าของเรามีแผนมาตลอดแต่ไม่ได้ทำตาม กลายเป็นนับหนึ่งใหม่ตลอดเวลา ทุกปีพอฝุ่นมาก็มานับหนึ่งใหม่ มันไม่มีคนที่จะกำกับว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำแบบนี้ กระทรวงเกษตรฯ ทำแบบนี้ กทม. หรือมหาดไทยทำแบบนี้ ซึ่งปีแรกอาจจะยังไม่เห็นผล แต่ตนมั่นใจว่าถ้าทำทั้งระบบ 4-5 ปี ลดแน่นอน
ในวันนี้มีแต่การแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่นับเรื่องการปิดโรงเรียนที่ทำให้เด็กเสียการเรียนรู้ อย่างโควิดจะรู้เลยว่าแค่การหยุดโรงเรียนทำให้พัฒนาการของเด็กหายไปขนาดไหน
ส่วนประเด็นที่โรงเรียนใน กทม. สามารถทำห้องปลอดฝุ่น ให้เด็กอยู่โดยที่ไม่ต้องปิดโรงเรียนได้ไหม นายสกลธีมองว่า ได้ แต่ต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะส่วนใหญ่โรงเรียนใน กทม. ไม่ค่อยมีแอร์ ฉะนั้น ห้องพัดลมจะปลอดฝุ่นลำบาก ต้องทำให้เป็นแอร์ พอเพิ่มแอร์มาก็มีภาระค่าไฟ เปลืองงบประมาณ แต่ถ้าทำไว้ 1-2 ห้อง ทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำให้ปลอดภัยทุกห้อง ทั้ง 400 - 500 โรงเรียน ตนคิดว่าต้องใช้เวลาพอสมควร
นายสกลธี ยังให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และจัดการแบบครบวงจร โดยการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกภาคส่วน เพื่อลดการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในทุกปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาในระยะยาว