ยังคงเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาล โดยอีกหนึ่งคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง คือ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ล่าสุดให้สัมภาษณ์ทีมข่าวพีพีทีวี มองว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลตอนนี้ ไม่ตรงจุด แก้ไขเฉพาะหน้าไม่วางแผนระยะยาว ใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเปล่าๆ
ทั้งนี้ อาจารย์เจษฎา บอกว่า ลักษณะการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลตอนนี้ คือ ให้แต่ละกระทรวงพยายามคิดวิธีการแก้ไขปัญหาของตัวเองขึ้นมา ใครมีงบส่วนไหนก็ทำส่วนนั้น ทั้งที่งบประมาณจริงๆ ก็คือเงินภาษีของประชาชนอยู่ดี ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไม่ได้ปัญหาที่ต้นตอ อย่างการให้ปิดสถานศึกษา เพราะกังวลว่าถ้าเด็กไปเรียนแล้วจะเจอฝุ่น ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาจริงๆ รัฐบาลควรทำห้องเรียนปลอดฝุ่น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่องมากกว่า
อาจารย์เจษฎา บอกว่า ที่ผ่านมาเวลาจะแก้ไขปัญหาอะไรรัฐบาลมักอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ซึ่งย้อนแย้งกับตอนนี้ ที่มีการใช้งบประมาณ 140 ล้านบาท ที่ให้ประชาชนขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าฟรี ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ในความจริงแล้ววัตถุประสงค์ของกลุ่มคนใช้รถส่วนตัวไม่ได้เป็นเพราะไม่มีเงินขึ้นรถประจำทาง แต่เป็นเพราะปัจจัยเรื่องความสะดวกตอบโจทย์การเดินทางมากกว่า
ทำให้จะเห็นว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะเห็นกลุ่มคนออกมาเที่ยวโดยใช้รถไฟฟ้าฟรี ไม่ใช่กลุ่มคนที่เปลี่ยนใจ ขึ้นรถไฟฟ้าแทนรถส่วนตัว นั่นหมายความว่า งบประมาณที่ใช้แก้ไขปัญหาไม่ถูกทาง
อย่างสัปดาห์หน้าสถานการณ์ฝุ่น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอีก อาจารย์เจษฎา ตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลว่าจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากถึง140ล้าน อีกหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเป็นงบประมาณเบี้ยหัวแตก ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แนะนำว่า รัฐบาลควรหาเครื่องมือที่ใช้งานได้อย่างถาวรและแก้ไขปัญหาระยะยาวมากกว่า
อีกปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ แก้ไขเรื่องฝุ่นทำได้ล่าช้า คือ รัฐบาลไม่ได้จัดสรรให้หน่วยงานใดเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นว่าทุกคนรอให้สถานการณ์วิกฤต จากนั้นนายกรัฐมนตรีถึงเรียกประชุมครม. แล้วมอบให้แต่ละกระทรวงคิดแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้ทุกอย่างล่าช้าเกินไป ส่วนตัวมองว่า ที่รัฐบาลบอกว่า “ปัญหาฝุ่นPM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ก็เป็นเพียงคำพูดลอยๆ เท่านั้น”
อาจารย์เจษฎา แนะนำว่า หากรัฐบาลมีงบประมาณก็ควรใช้อย่างตรงจุด หาซื้ออุปกรณ์ที่แก้ไขปัญหาฝุ่นระยะยาวเช่น เครื่องฟอกอากาศ หรือ เครื่องมือวัดค่าฝุ่น นำไปติดตั้งตามสถานสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่สำคัญเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนป้องกันตัวเองได้
ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับการเผาพื้นที่การเกษตร อย่างเช่นอ้อย ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะเกษตรกรไม่มีรถตัดอ้อยจึงทำให้เลือกใช้วิธีการเผา ส่วนนี้รัฐบาลก็สามารถแก้ไขปัญหา โดยการซื้อรถตัดอ้อยไว้ให้เกษตรกรเช่า เป็นต้น
อาจารย์เจษฎาฝากถึงรัฐบาลเรื่องการแก้ไขปัญหา ฝุ่นPM2.5ว่า หลังจากนี้อยากให้รัฐบาลใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น ไม่ใช่แก้ไขปัญหาตามกระแสสังคม รอให้ประชาชนโจมตีก่อน และอยากให้มองว่าเรื่อฝุ่นก็เป็นภัยพิบัติหนึ่งของประเทศที่ต้องเร่งวางแผนแก้ไขระยะยาว