หลังจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2568 มีมติให้ตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต ตัดน้ำมัน ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสกัดการดำเนินการของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “พรรคประชาชน” ได้โพสต์ข้อความเสนอแนะการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ในก้าวต่อไปที่ควรทำหลังจากมีการตัดไฟแล้ว
โดยระบุตอนหนึ่งว่า เป็นเวลาหลายเดือนที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ออกมาตีแผ่ความร้ายแรงของปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และข้อเสนอหนึ่งที่นายรังสิมันต์พูดมาตลอด คือรัฐบาลไทยต้องตัดไฟที่ส่งข้ามชายแดนไปเอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหลังจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในรัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่างโยนความรับผิดชอบกันไปมาจนประชาชนเอือมระอา ในที่สุด 4 ก.พ. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. ให้พิจารณามาตรการตัดไฟ และ 5 ก.พ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีอำนาจตามระเบียบอยู่แล้วในการตัดไฟ ก็ดำเนินการเสียที แต่นอกจากก้าวแรกอย่างการตัดไฟ รังสิมันต์เห็นว่ารัฐบาลควรออกมาตรการเชิงรุกอื่นๆ ในการปราบปรามแก็งคอลเซ็นเตอร์ด้วย
1.สกัดการจัดหาเครื่องปั่นไฟ
รัฐบาลควรสกัดการจัดหาเครื่องปั่นไฟของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตั้งแต่ตอนนี้ ผ่านท่าข้ามชายแดนซึ่งเป็นท่าเรือทั้ง 59 ท่าในจังหวัดตาก โดยเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย ในการควบคุมดูแลท่าข้ามฯ เหล่านี้ นอกจากนี้ควรทบทวนความจำเป็นของการมีท่าข้ามจำนวนมากเช่นนี้ เพราะในทางปฏิบัติประชาชนมักเดินทางเข้าออกผ่านท่าข้ามและส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่ในแง่ความปลอดภัยในการตรวจตราแทบไม่มี
ท่าข้ามฯ จึงเป็นความอ่อนแอของความมั่นคงของประเทศ ทำให้สิ่งของผิดกฎหมายผ่านเข้ามาตลอดเวลา รัฐบาลควรพิจารณาปิดท่าข้ามฯ หรือหากจะคงไว้ ต้องทำให้มาตรฐานการตรวจตราของท่าข้ามฯ เทียบเท่าด่านชายแดนถาวรตามจุดต่าง ๆ
2. จัดตั้งพื้นที่พิเศษเพื่อจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติ ป้องกันการค้ามนุษย์และมิจฉาชีพที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดน
นายกรัฐมนตรีควรทบทวนการเปิดการงดเว้นวีซ่า ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาตซ้ำ แม้เรื่องนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว แต่อาจเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว ข้ามจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปเมียวดี หรือข้ามจากด่านเจดีย์สามองค์ไปเมืองพญาตองซู
รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งพื้นที่พิเศษเพื่อจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติ เช่นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และมิจฉาชีพที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดน
3.เอาจริงจัดการบัญชีม้า
28 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (พ.ร.ก.ไซเบอร์) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ คาดว่าบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สาระสำคัญคือการเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ หนึ่งในข้อกำหนดคือให้ธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายของประชาชน เรื่องนี้รังสิมันต์เห็นด้วยและหวังว่ารัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
4. เอาผิดข้าราชการทุจริต
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่มีข้าราชการทุจริตคอยให้การช่วยเหลือ จึงเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการ “กวาดบ้าน” ของตัวเอง ทำความจริงให้กระจ่างและเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งหมดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อครหาเรื่องนายตำรวจระดับสูงเข้าไปมีผลประโยชน์กับบ่อนพนันในเมืองเมียวดี หรือกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งรู้ช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน เอื้อให้เครือข่ายมิจฉาชีพข้ามไปมาระหว่างไทย-เมียนมาได้
ทั้งนี้ตราบใดที่การจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างถึงรากถึงโคนยังไม่ปรากฏ หรือดำเนินไปอย่างเนิบช้าสวนทางกับความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นรายวัน ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะถูกมองไม่ต่างจากนายหน้าในขบวนการค้ามนุษย์ที่กำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ พรรคประชาชนหวังว่าหลังจากนี้เราจะได้เห็นการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังและเห็นเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลที่จะสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน ไม่ยอมให้ขบวนการเหล่านี้ใช้ไทยเป็นทางผ่านอีกต่อไป