กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จำคุก 2 ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157 ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันชั่วคราว วงเงิน 1.2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่ง กสทช.นั้น
ล่าสุด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง โดยระบุว่า
ตามที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น
คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลได้ กระนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ
ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช.ในอนาคต อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป