นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน โพสต์โซเชียลถึงกรณีจดหมายเชิญของ ป.ป.ช. เชิญ 44 สส.พรรคก้าวไกลเดิมรับทราบข้อกล่าวหาเรื่องยื่นแก้มาตรา 112 ว่า ไม่เข้าใจว่า การเข้าชื่อเสนอแก้เพื่อกฎหมายจะเป็นความผิดได้อย่างไร ในเมื่ออำนาจนี้เป็นอำนาจของ สส. รวมถึงไม่มีบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายที่ระบุว่าการเข้าชื่อเสนอเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 จะไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้การหาเสียงของอดีตพรรคก้าวไกลก็มีการส่งให้กับ กกต. อีกด้วย จึงยืนยันในการทำหน้าที่ของพวกเขานั้นไม่มีทางที่จะผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างแน่นอน
รังสิมันต์ระบุอีกว่า การได้เห็น ป.ป.ช. ขยันขันแข็งในการรวบรวมข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับ สส. ทั้ง 44 คนท่ามกลางข้อครหาของ ป.ป.ช. ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวิ่งเต้นให้หลุดพ้นจากการถูกร้องถอดถอนในกรณีที่เป็นข่าวล่าสุด จึงเป็นเรื่องที่ตลกร้ายว่า องค์กรอย่าง ป.ป.ช. ที่มีชนักติดหลังแบบนี้มีข้อครหาที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดจริยธรรม จะเข้ามาตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและใช้อำนาจหน้าที่นั้นเพื่อแก้ไขกฎหมายได้อย่างไร
และยังไม่นับว่าพวกเขา สส.ฝ่ายค้านที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายได้เคยร้องหลากหลายกรณีไปยัง ป.ป.ช. กลับพบว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก ขณะที่คดีที่เกิดขึ้นต่อพวกเขานั้นกลับรวดเร็วปานดังกามนิตหนุ่ม ได้แต่สงสัยว่ามาตรฐานของ ป.ป.ช. นั้นเป็นอย่างไรกันแน่
ตอนท้าย โรม ระบุว่า เขาได้รับหนังสือในวันมาฆาบูชา (12 ก.พ.) ไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ หลังจากนั้น "สุชาติ" ก็ได้รับการโปรดเกล้าเป็นประธาน ป.ป.ช. ก็ขอแสดงความยินดีด้วย หากคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบกันอีกที ส่วนตัวทราบดีว่าเวลาคงจะมีอีกไม่มากระหว่างนี้คงจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่
ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน โพสต์โซเชียลเหมือนกันว่า ไม่ซีเรียส ลั่นทำอะไรตรงไปตรงมาเวลาชี้แจงมันง่าย แต่ที่เซ็งคือต้องเสียเวลางานมาเตรียมเอกสาร
ข้อความในโพสต์ของวิโรจน์ ระบุว่า เรื่องที่ ป.ป.ช. เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหานั้น ไม่ได้ซีเรียส ก็ชี้แจงกันไป คนอย่างเขาตรงไปตรงมาเวลาชี้แจงมันง่าย ที่รู้สึกเซ็งนิดหน่อย คือต้องมาเสียเวลางาน มาเตรียมเอกสารก็แค่นั้น
แต่ยืนยันว่า ในฐานะ สส. ที่ได้รับมอบอำนาจจาประชาชน การทำหน้าที่โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยชอบ
การเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบคอบรอบด้าน เป็นหน้าที่ที่ สส. ซึ่งต้องยึดโยงกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนพึงกระทำด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นการที่ สส. จะใช้ตำแหน่งของตนเป็นนายประกัน ให้ผู้ต้องหาในคดีอาญา ได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ก็เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ส่วนการหาเสียงต่อประชาชนอย่างเปิดเผย อธิบายตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงเจตนาอันสุจริตต่อนโยบายที่ได้แจ้งเอาไว้กับ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
วิโรจน์ ระบุอีกว่า ถ้าบ้านเมืองอยู่ในระบบนิติรัฐ จะไม่รู้สึกกังวลอะไรเลย เรื่องคดีก็ว่ากันไป ระหว่างนี้ก็ทำงาน เพียงแต่ต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้น ถ้าไม่โดนงานก็เดินต่อเนื่อง แถมทีมก็ขยายเติบโต แต่ถ้าโดน โดนเมื่อไหร่ก็หยุดเมื่อนั้น ทีมทำงานต่อไปได้อย่างไร้รอยต่อ
ขณะที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความหลังได้รับหนังสือเชิญรับทราบข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. ด้วยการฝากคำถามถึง ป.ป.ช. 5 ข้อด้วยกันคือ
1. การประกันตัวผู้ต้องหา คดี 112 จะทำได้ศาลต้องเป็นผู้อนุมัติ นั่นหมายถึงศาลสมรู้ร่วมคิดกันเซาะกร่อนบ่อนทำลายและล้มล้างการปกครองใช่หรือไม่ แล้ว ป.ป.ช. ส่งหมายเรียกให้ศาลมารับทราบข้อกล่าวหาหรือยัง และยังมีนักวิชาการหลายคนไปช่วยประกันตัวเพื่อให้ลูกศิษย์ได้กลับมาเรียนหนังสือในระหว่างต่อสู้คดีด้วย พวกเขาเหล่านี้มีความผิดด้วยหรือไม่
2. อำนาจหน้าที่เสนอกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยยังเป็นหน้าที่ของ สส. หรือไม่
3. มีบทบัญญัติหรือข้อห้ามใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามเสนอแก้ไขกฎหมาย ม.112 และในอดีตเคนมีการแก้ไขมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
4. กกต. เป็นผู้อนุญาตให้ใช้นโยบายแก้ไข ม.112 เป็น 1 ใน 300 นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล แสดงว่า กกต. ก็สุมหัวร่วมทำความผิดด้วยหรือไม่ ทำไมไม่เรียก กกต. ไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมๆ กัน
และสุดท้าย 5. ป.ป.ช. มีมโนธรรมสำนึกในหัวในบ้างหรือไม่ หรือพอจะมีแต่ไม่มีความกล้าหาญพอจะยืนยันรักษาหลักการที่ถูกต้องให้กับสังคมนี้ได้