หลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผลการประชุมคดีฮั้วเลือก สว. นัดแรก ว่า มีองค์คณะจากสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 1 สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด มาร่วมสอบสำนวนทำคดี
ซึ่งเป็นการประชุมพนักงานสอบสวนร่วมกับอัยการครั้งแรก เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคดีนี้มีองค์คณะพนักอัยการมาร่วมสอบสวนทั้งหมด 5 คน แต่การประชุมครั้งนี้มาร่วมประชุมเพียง 3 คน
โดยการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวน ส่วนใหญ่เป็นการสรุปข้อเท็จจริงและหลักฐานการสืบสวนเพื่อให้คณะพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ทราบข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหา ซึ่งเป็นการรวบรวมและดูว่าใครที่มีส่วนในการรับโอนเงินในเรื่องนี้บ้าง โดยต้องตรวจสอบรายการเดินบัญชีและเส้นทางการเงินร่วมด้วย ซึ่งคดีนี้มีพยานที่ต้องสอบปากคำจำนวนมากแต่ยังระบุไม่ได้ว่ามีกี่คน
ส่วนที่มีเอกสารหลุดเป็นรายชื่อของผู้ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้กว่า 7,000 รายชื่อ ต้องไปตรวจสอบว่า ถ้าคนไหนมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเชิญมาสอบปากคำด้วย โดยจะตรวจสอบในช่วงปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบข้อมูลว่ามีการกระทำความผิด
ส่วนการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดี คณะพนักงานสอบสวนจะนัดประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งและพยายามทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทันกำหนด 3 เดือน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีอำนาจในการเพิกถอน สว.ออกจากตำแหน่ง และพยานในคดีนี้จะเข้าสู่โครงการคุ้มครองพยานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
อธิบดีดีเอสไอบอกอีกว่า ในเบื้องต้นดีเอสไอจะดำเนินคดีในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน แต่หากพบความผิดเพิ่มเติมในข้อหาอื่นหลังจากทำคดีหลัก พนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีในความผิดต่อเนื่องได้ แต่ต้องทำคดีหลักให้แล้วเสร็จก่อน
พร้อมยืนยันว่า การกระทำความผิดตามคดีอาญา หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการก็เป็นความผิดเสียเอง ซึ่งต้องทำไปตามกระบวนการ แต่ใครจะมองไปเรื่องการเมืองก็สามารถที่จะคิดได้ ยืนยันว่า ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีกลุ่ม สว. ไปร้องเรื่องจริยธรรมของ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็พร้อมให้มีการตรวจสอบ
ด้าน นายสุริยน ประภาสะวัต อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 ระบุว่า พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากระบุได้ว่ามีการกระทำความผิดก็จะต้องถูกสอบสวนทั้งหมด
โดยหลังการประชุมในครั้งนี้พนักงานสอบสวนสามารถสอบปากคำพยานได้ทันที โดยจะสอบเรียงลำดับความสำคัญของพยานจากมากไปหาน้อย และจะจัดกลุ่มพนักงานสอบสวนสอบปากคำพยาน เพราะพยานแต่ละคนมีความสำคัญไม่เท่ากัน