จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้าง อาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 9 เม.ย.2568 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ตนได้มอบหมายนโยบายให้พนักงานสอบสวนลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนอมินี โดยยังคงเน้นการพิสูจน์ในความผิดเรื่องนอมินี การถือหุ้นอำพรางของคนไทย ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้สืบสวนจนพบเจอกับญาติ (น้องเขย) ของนายมานัส ศรีอนันท์ (1 ใน 3 คนไทย ผู้ถือหุ้นใน บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ สัดส่วน 0.0003%) ที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่ไม่เจอตัวนายมานัส โดยญาติได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่านายมานัสทำอาชีพรับจ้างอยู่ภายในบริษัท มีรายได้ไม่เยอะ รับเป็นรายวัน มีการขับรถส่งของ-ยกของเท่านั้น เชื่อได้ว่าไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นภายในบริษัท เพราะเป็นเพียงพนักงานธรรมดา เรียกได้ว่าญาติของนายมานัส ถือเป็นพยานรายที่สองที่ดีเอสไอได้เจอตัวและได้สอบถามข้อมูล ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้พบเจอภรรยาของนายประจวบ ศิริเขตร (สัดส่วนถือหุ้นใน บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ 10.2%) ที่จังหวัดร้อยเอ็ด
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า ประเด็นที่ว่าหาก 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยประสงค์เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อคดี จะสามารถกันเป็นพยานได้หรือไม่นั้น ตามหลักการแล้วจะมีหลักเกณฑ์ของการกำหนดกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญา ซึ่งหมายรวมไปถึงการให้รายละเอียดและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับในสำนวนที่เจ้าตัวจะให้ด้วย
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า สำหรับกรอบการทำงาน ดีเอสไอพยายามทำงานให้เร็วที่สุด พยายามเร่งที่สุด หากติดตามจนเจอตัวพยานก็จะได้ทำการสอบสวนปากคำ แต่ถ้าติดตามแล้วยังไม่พบตัว มันก็ต้องขยายเวลาออกไปเล็กน้อย แต่จะไม่กระทบกับหลักการสอบสวนในประเด็นอื่น หรือการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ส่วนอุปสรรคในการติดตามพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยพบข้อมูลตามการรายงานว่ามีการย้ายสำนักงานหลายแห่งนั้น มันก็ยิ่งเป็นข้อสันนิษฐานและพยานหลักฐานได้ว่า บริษัทฯ อาจไม่ได้มีการประกอบกิจการที่เป็นหลักเป็นฐานจริง อาทิ การมีที่อยู่เดียวกันกับหลายบริษัท หรือพอเกิดเหตุขึ้นกลับมีการปิดสำนักงานบางจุดแล้วย้ายไปที่อื่นแทน มันก็ยิ่งสอดคล้องกับการที่อาจไม่ได้มีการตั้งบริษัทที่เป็นหลักเป็นฐานจริง ๆ ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ใช่เป็นการทำลายพยานหลักฐาน แต่ดีเอสไอก็สามารถเก็บรวบรวมร่องรอยหลักฐานที่เหลือได้
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยด้วยว่า ตอนนี้ดีเอสไอได้รับดำเนินคดีพิเศษในฐานความผิดการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือคดีนอมินี ซึ่งในเรื่องของวัสดุก่อสร้าง เหล็กต่าง ๆ ดีเอสไอก็จะขยายผลดูในเรื่องของความผิดเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน ทั้งกรณีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และรวมไปถึงการฮั้ว ซึ่งเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการลงพื้นที่ในส่วนใด ดีเอสไอก็จะต้องเข้าไปร่วมบูรณาการด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อเก็บตัวอย่าง เศษวัสดุ หรือสิ่งใดที่จะใช้เป็นของกลางในคดีใช้พิสูจน์ประเด็นต่าง ๆ
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ยุทธนา ปิดท้ายว่า กรณีที่สังคมตั้งคำถามว่าผ่านเวลามากกว่า 10 วัน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถพิจารณาดำเนินคดีบุคคลรายใดได้นั้น ตนขอชี้แจงว่าดีเอสไอยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนหากจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีกับบุคคลใด หรือออกหมายจับใคร ยืนยันว่าดีเอสไอยังคงเร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการประสานจาก 1 ใน 11 ตัวแทนกิจการร่วมค้าที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วม มาเข้าให้ข้อมูลรายละเอียดกับดีเอสไอ โดยนัดหมายเวลา 09.30 น. ที่ ห้องสำนักงานรองอธิบดีฯ ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ล่าสุดมีรายงานว่า ตัวแทนกิจการร่วมค้า จำนวน 3 ราย ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนแล้ว ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการให้ข้อมูลรายละเอียด.