นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ พา 3 อดีตผู้สมัคร สว. พื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่เคยร่วมอยู่ในขบวนการฮั้วเลือก สว. มาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาสอบเข้มนานกว่า 6 ชั่วโมง
หนึ่งในพยานที่เคยร่วมขบวนการเล่าว่า ตัวเองใช้ความรู้ความสามารถจนผ่านระดับจังหวัดมาถึงระดับประเทศ จากนั้นก็เริ่มมีคนในพื้นที่เข้ามาชักชวนให้ร่วมขบวนการจูงใจว่า ถ้ารวบรวมผู้สมัคร แล้วได้จำนวน สว. มากที่สุด อำนาจการต่อรองและผลประโยชน์ก็จะกลับเข้าพื้นที่มากขึ้นด้วย
ตัวเองจึงเข้าไปอยู่ในขบวนการเพราะเห็นประโยชน์ในส่วนนี้
จากนั้นพอเข้าไปร่วมขบวนการก็จะพาไปโรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อสอนการโหวต โดยเน้นย้ำว่า ไม่ให้กาหมายเลขของตัวเองเด็ดขาด เพราะการนับคะแนนจะผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป้าหมายที่กลุ่มนี้ต้องการคือ สว. 140-170 คน จากนั้นก็จะขายฝันว่า ถึงแม้เราจะไม่กาให้ตัวเองแต่ก็ยังมีผู้สมัครจากจังหวัดอื่นลงคะแนนให้แน่นอน ทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็น สว. หรือ ถ้าไม่ได้ตำแหน่ง สว. ก็จะจัดหาตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการ หรือผู้ช่วยให้แทน
พยานคนนี้บอกว่า เมื่อดำเนินการบอกวิธีการโหวตเรียบร้อยแล้ว พอเข้าห้องพักไปก็จะมีซองสีขาวใส่เงินจำนวน 20,000 บาทโดยบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายมอบให้กับกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมในขบวนการ
แต่เมื่อตัวเองได้รับเงินมาแล้วรู้สึกไม่สบายใจ จึงถ่ายภาพเก็บไว้ ไม่เคยนำเงินจำนวนนั้นออกมาใช้จ่ายเลย จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอพบหลักฐานเชื่อมโยงมาถึง จึงตัดสินใจเข้ามาให้ปากคำในฐานะพยาน
มองว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พูดถึงเรื่องเส้นเงินมหาศาลแต่ยังไม่เคยพูดถึงเงินสด วันนี้ตัวเองจึงอยากออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ และอยากขอให้คนที่เข้าไปอยู่ในขบวนการออกมารับผิด เพื่อบ้านเมืองจะได้พัฒนา ก้าวไปข้างหน้า อีกทั้งมองว่าคนที่ได้รับตำแหน่ง สว. ควรจะต้องมีเกียรติได้ตำแหน่งมาอย่างสง่างามมากกว่าทุจริตแบบนี้
นอกจากนั้น พยานคนนี้ยังบอกว่า ในช่วงที่ตัวเองเข้าไปร่วมกับขบวนการพบว่าในโรงแรมที่มีการสอนโหวตก็มี สว. กลุ่มที่เข้าไปรับตำแหน่งในปัจจุบันและได้คะแนนลำดับต้น ๆ อยู่ด้วย
ขณะที่ทางฝั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.ท.ยอดชัย ยั่งยืน อดีตรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อดีตผู้สมัคร สว. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำใบเสร็จจ่ายเงินค่าสมัคร สว. จำนวน 2,500 บาท และเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับความผิดปกติในการเลือกตั้ง สว.หาดใหญ่ ที่อาจจะเชื่อมโยงถึงการเลือกตั้งแบบจัดตั้ง มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ DSI ตรวจสอบ
โดยบอกว่า เงินค่าสมัคร สว.จำนวน 2,500 บาทต่อคน หรือรวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทนั้น ตามระเบียบแล้ว จะต้องนำเข้าคลังจังหวัดภายในระยะเวลา 3 วัน แล้วหลังจากนั้นก็ต้องส่งกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน แต่เมื่อตรวจสอบบัญชีงบประมาณของกระทรวงการคลัง ปรากฏว่า ไม่มีเงินส่วนนี้อยู่ในระบบ
อีกทั้งข้าราชการ กกต. ที่ทำหน้าที่ในระดับอำเภอ รับเงินค่าสมัครเฉพาะเงินสดเท่านั้น ทั้งที่ตามระเบียบแล้วมีการระบุว่าสามารถจ่ายเป็นเช็ค หรือ รูปแบบอื่นๆได้ ทำให้มีข้อสงสัยว่าเรื่องนี้อาจดำเนินการอย่างผิดปกติ
หลังพบพิรุธ อดีตผู้สมัครคนนี้ได้ส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับมีการแก้คำร้องแล้วพิจารณาว่าไม่เข้าเกณฑ์รับเรื่อง จึงส่งต่อเรื่องนี้ให้กับ ป.ป.ช. ตรวจสอบตั้งแต่ วันที่ 13 พ.ย. 2567 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงตัดสินใจรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ DSI ตรวจสอบ เพราะการไม่นำเงินค่าสมัครเข้าเป็นรายได้แผ่นดินอาจเป็นไปได้ว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้เกี่ยวข้องกับการฮั้ว สว.
พล.ท.ยอดชัย บอกอีกว่า ตัวเองพบข้อพิรุธการทุจริตตั้งแต่วันที่ดำเนินการคัดเลือก สว.แล้ว เห็นความหละหลวมของเจ้าหน้าที่กกต.ที่ปล่อยให้ผู้สมัครส่งซิกกันไปมาอย่างเปิดเผย ทั้งที่มีกล้องวงจรปิดชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยร้องเรียนไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ลักษณะการตรวจสอบก็เหมือนเป็นการหน่วงเวลาและปัดทิ้งคำร้อง ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าเกิดตรวจสอบจริงจังแล้วไปตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดก็จะเห็นการทุจริตชัดเจนแน่นอน