นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดเผยผ่าน facebook Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 160-163/2568 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 พิพากษาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นบางส่วน และแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น สรุปความได้ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี 2554-2557)
ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว จำนวน 10,028,861,880.83 บาท (“ประมาณ 10,029 ล้านบาท”)
โดยศาลพิจารณาและให้เหตุผลประกอบ ดังนี้
1. ศาลแบ่งแยกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ส่วนที่สอง การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย
โดยศาลเห็นว่า ในส่วนแรกนั้นเป็นการดำเนินในระดับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องทางการเมือง ต้องถูกตรวจสอบโดยการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนแรกนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด ในส่วนที่สอง เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้นโยบายรับจำนำข้าวบรรลุผล ซึ่งถือเป็น “การกระทำทางปกครอง” ไม่ใช่การดำเนินการในส่วนนโยบาย จึงถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อันอาจมีความรับผิดทางละเมิดได้
(ดูคำพิพากษา หน้า 109-113)
2. ส.ต.ง.และ ป.ป.ช. ได้แจ้งผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี “สอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย” แต่นายกรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการใดๆ
แม้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว “แต่ก็มิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช.หรือไม่” และยังมีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวหาและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทจริตในการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
จึงถือว่า นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ “ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน” แต่ก็มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่
จึงเป็นกรณีที่ “ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด” แต่กลับปล่อยให้ดำเนินโครงการต่อไป จึงถือได้ว่า “ปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย” เป็นการที่คุณยิ่งลักษณ์ ละเมิดต่อกระทรวงการคลัง ทำให้ได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 420
(ดูคำพิพากษา หน้า 121)
3. ศาลอธิบายว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2.การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษา 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร 4. การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
ศาลเห็นว่าในสามขั้นตอนแรก ซึ่งเป็นขั้นตอนในการจำนำข้าวเปลือกนั้น แม้มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่พฤติการณ์ของการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์จึง “ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557”
(ดูคำพิพากษา หน้า 122)
4. ศาลเห็นว่า ในขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่มีการทุจริตเกิดขึ้นนั้น คุณยิ่งลักษณ์ได้รับทราบปัญหา “แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขายกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใกล้ชิด” ประกอบกับ คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว จึงเห็นได้ว่า “ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ”
ศาลเห็นว่า โดยวิสัย คุณยิ่งลักษณ์ต้องเล็งเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว จึงควรพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏในหนังสือทักท้วงของหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเพิกเฉย จนมีการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่วนนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(ดูคำพิพากษา หน้า 123)
5. ศาลนำความเสียหายจากสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับที่มีปัญหาการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มาพิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท (ประมาณ 20,058 ล้านบาท)
(ดูคำพิพากษาหน้า 124-125)
6. ศาลเห็นว่า พิจารณาจากระดับความร้ายแรงของการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว ไม่เห็นควรที่จะหักส่วนแห่งความรับผิด
(ดูคำพิพากษา หน้า 125-126)
7.ศาลเห็นว่า กรณีนี้ ความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีผู้กระทำละเมิดหลายคน ต้องหักส่วนความรับผิดของแต่ละคนออก โดยศาลกำหนดให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดจำนวน 10,028,861,880.83 บาท (“ประมาณ 10,029 ล้านบาท”) หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนมูลค่าความเสียหาย
(ดูคำพิพากษา หน้า 127)
ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังนี้
1. การดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากคุณยิ่งลักษณ์ ในความเสียหายที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ไปจนถึงการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางนั้น มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นกลางของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง จนทำให้องค์กรผู้ใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเรียกค่าสินไหมทดแทนมีความเป็นปฏิปักษ์กับคู่กรณี
2. การพิจารณาว่า “เจ้าหน้าที่” ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่รัฐหรือหน่วยงานหรือไม่ ต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับ ป.พ.พ.มาตรา 420 เรื่องละเมิด ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นการกระทำ 2. การกระทำหรือละเว้นการกระทำนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 3. มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงาน 4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำหรือละเว้นการกระทำกับความเสียหายที่เกิดขึ้น (causation)
ในส่วนที่เป็นการตัดสินใจทางนโยบายว่าจะดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลเห็นว่าในส่วนนี้เป็นการกระทำทางการเมืองโดยแท้ เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตั้งกระทู้ถาม ไม่ใช่เป็นการกระทำทางปกครอง ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง ไม่ได้กระทำการในฐานะ “เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายปกครอง ไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในส่วนนี้ ผมเห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด
แต่ในส่วนของกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามนโยบาย และใช้อำนาจในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการ กขช. ซึ่งถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายปกครองนั้น ศาลเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ในส่วนนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด เพราะ การระบายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์และการปฏิบัติในระดับเจ้าหน้าที่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในระดับนโยบาย และนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์
3. ในคดีนี้ประเด็นพิพาท คือ คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,717,273,715.23 บาท (ประมาณ 35,717 ล้านบาท) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ วัตถุแห่งคดีที่ต้องพิจารณาคือ “คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559”
ในการพิจารณาออกคำสั่งกระทรวงการคลัง 1351/2559 นั้น ยืนยันว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง ปี 2555 แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555/2556 และปี 2556/2557 จะเห็นได้ว่า กระทรวงการคลังไม่ได้นำข้อเท็จจริงกรณีความเสียหายในปี 2554/2555 มาเป็นฐานในการออกคำสั่งกำหนดค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด
แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นำกรณีความเสียหายจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ตามสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งเป็นกรณีข้าวปีการผลิต 2554/2555 (โดยข้อเท็จจริงเรื่องทุจริตนี้ปรากฏในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้อยู่ในคำสั่งกระทรวงการคลัง) มากำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้ กรณีจึงเป็นการนำข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้เป็นมูลเหตุ (ในวิชากฎหมายปกครอง เราเรียกว่า motif) ในการออกคำสั่ง มาพิจารณาว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ดูความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยได้ในหน้า 170)
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ก็ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ออกมาภายหลังจากคำสั่งกระทรวงการคลังด้วย
4. ในคดีปกครองในศาลปกครองนี้ เป็นการพิจารณา ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลัง และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการลงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งใช้ ป.พ.พ.มาตรา 420 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในขณะที่การพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการพิจารณาความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 และความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น มาตรวัดทางกฎหมายไม่เหมือนกัน องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายไม่เหมือนกัน ระดับความเข้มข้นของความผิดทางละเมิดกับทางอาญาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถหยิบเอาประเด็นในคดีอาญามาใช้ประกอบได้
5. การพิจารณาว่า “นายกรัฐมนตรี” เป็น “เจ้าหน้าที่” ใช้อำนาจตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาโดยยึดวัตถุประสงค์ของกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้กล้าตัดสินใจกระทำการ (ดูได้จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ) เป็นสำคัญ
หากศาลพิจารณาโดยใช้เทคนิควิธี “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ชนิดที่ว่า โยงกันตั้งแต่
[รัฐเสียหาย --- เสียหายจากการทุจริต --- การทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G --- การระบายข้าวแบบ G to G อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ --- นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ --- ส.ต.ง. และ ป.ป.ช. ท้วงแล้ว สื่อลงข่าวแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ยังไม่หยุด --- เป็นประธาน กขช. แต่กลับไม่เข้าประชุม ]
นายกรัฐมนตรีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องรับผิด