พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ภายหลังการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพียง 48 วัน
พล.อ.สุจินดา คราประยูร เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2476 เวลาประมาณ 03.35 น. ณ จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนสุดท้องของนายจวงกับนางสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร มีบุตรชาย 2 คน
ในด้านการศึกษา พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ารับการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนปิยะวิทยา แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเษก หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 – 5 ที่จังหวัดหนองคาย เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องย้ายไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่จังหวัดหนองคาย
ต่อมาได้กลับเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดราชบพิธ แล้วได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบมัธยมปีที่ 8
จากนั้นสอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลักสูตรเวสท์ปอยต์ รุ่นที่ 5
ต่อมาได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่จากฟอร์ทซิลส์ (Fort Sill’s) รัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) ประเทศสหรัฐฯ สำเร็จหลักสูตรเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 44 เป็นอันดับที่ 1 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาจากฟอร์ดลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth)
เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้รับพระราชทานยศ ว่าที่ร้อยตรี และดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 ในปี พ.ศ. 2501
ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 พล.อ.สุจินดา คราประยูร เดินทางไปราชการสงครามที่เวียดนาม ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานยศ พ.ท. และเข้าดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับในตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เจ้ากรมยุทธการทหารบก ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ รองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รับพระราชทานยศพล.อ.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2530 และในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งลาออกจากราชการ และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่งแทน พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ
การดำรงตำแหน่งทางการเมือง พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังต่อไปนี้ คือ
- วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 – วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2525 ดำรงตำแหน่งเลขานุการ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2525 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี
- วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 - วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
- วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ดำรงตำแหน่งรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือรสช. ซึ่งได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
- วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2534 - วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 - วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
- วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 - วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ส่วนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535
แต่ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนเป็นการชั่วคราว
โดยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีความเกี่ยวข้องตั้งแต่เข้าร่วมการทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และได้มีการก่อตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขึ้น โดยการนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นรองหัวหน้าคณะ
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมซึ่งมีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง ได้เตรียมการให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากเหตุผลบางประการทำให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ พรรคพันธมิตรทั้ง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทยและพรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดาประกาศรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากที่เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ จนได้รับฉายาว่าเป็นการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
ซึ่งทันทีที่เข้าดำรงตำแหน่ง ได้เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วจากกลุ่มนักศึกษา กลุ่มประชาชน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร เริ่มการอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภาและประกาศจะอดอาหารไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2535 พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคที่ไม่สนับสนุนให้คนกลางหรือคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรมและพรรคเอกภาพ ได้เปิดการปราศรัยต่อต้านที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก และพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ประกาศตัวเป็นแกนนำการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2535 วันนัดประชุมวันแรกของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรมและพรรคเอกภาพ ได้พร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรมถึงกับถือตะเกียงเข้าสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร จัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้สำเร็จ โดยมีรัฐมนตรีหลายคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติยึดอำนาจโดยอ้างว่ามีการคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง แต่พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้นำเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อความมั่นคงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมเปิดการปราศรัยใหญ่ในจุดต่าง ๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และต้องการปิดโอกาสในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนในที่สุดกลายมาเป็นประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครและหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศอดอาหารประท้วงและมีประชาชนร่วมอดอาหารประท้วงด้วยจำนวนมาก
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 โดยถูกโจมตีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านและผู้ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ส่วนบริเวณหน้ารัฐสภามีประชาชนมาชุมชุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ต่อมาการประท้วงได้ลุกลามเมื่อมีการย้ายการชุมนุมมาสู่ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลางอันเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์จนเป็นที่น่าวิตกว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้น
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนจากท้องสนามหลวงมุ่งสู่รัฐสภา นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์ เกิดการต่อสู้ ปะทะกันอย่างยืดเยื้อยาวนานเป็นระยะเวลา 4 วัน 4 คืน ประชาชนได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมทั้งนิสิตนักศึกษา ประชาชนนับพันคนถูกจับกุม ในเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ”
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬสงบลงได้ด้วยพระบารมี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชกระแสรับสั่งพร้อมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเลวร้าย
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์
ภายหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ยุติบทบาทการดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นและการให้คำแนะนำทางด้านการเมือง การปกครอง และการปฏิวัติรัฐประหารในยุคต่อ ๆ มาจากประสบการณ์ตรง
ในวันที่ 6 สิงหาคม ของทุกปี พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะเปิดบ้านให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าและนักธุรกิจเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด ณ บ้านพักซอยระนอง 2 พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์และตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย
และเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 01:57 น. ของวันที่ 10 มิ.ย. 68 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ สิริอายุ 91 ปี 10 เดือน 4 วัน
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเป็นระยะเวลาเพียง 48 วัน แต่เป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทยขึ้นหลายประการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยของการเมืองการปกครองไทยในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า