เจาะสาเหตุเดนมาร์กสั่งฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัว สกัดโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจาะสาเหตุเดนมาร์กสั่งฆ่ามิงค์ 17 ล้านตัว สกัดโควิด-19 จนอาจส่งกระทบอุตสาหกรรมเสื้อผ้าขนสัตว์ พร้อมการตั้งคำถามถึงวิธีการกำจัดตัวมิงค์ด้วยก๊าซว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศเดนมาร์ก เริ่มกำจัดตัวมิงค์เพื่อที่จะพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สู่มนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งการตัดสินใจฆ่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดในประเทศ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลเดนมาร์กไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

“เดนมาร์ก” เตรียมกำจัดมิงค์ 17 ล้านตัว ป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์

โดยล่าสุด ประเทศเดนมาร์กกำลังคัดแยกตัวมิงค์อีก 17 ล้านตัว หลังจากพบว่ามันมีเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ในฟาร์มผลิตขนสัตวทางภาคเหนือของประเทศ ในฟาร์ม 5 แห่ง และพบคนงาน 12 คน ติดโควิด-19 ดังนั้น หากปล่อยไว้อาจนำไปแพร่กระจายสู่มนุษย์ และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดในอนาคต

 “เป็นความรับผิดชอบต่อประชากรชาวเดนมาร์กและต่อโลก หลังพบการกลายพันธุ์จากตัวมิงค์” เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก แถลง

เดนมาร์กพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่คาดว่าติดมาจากตัวมิงค์ 214 ราย

ตามรายงานของ Associated Press  ระบุว่า Magnus Heunicke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์ก บอกว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 783 ราย ทางตอนเหนือของประเทศมีความเชื่อมโยงกับตัวมิงค์ โดยบ่งชี้ว่า การแพร่กระจายของไวรัสจากมิงค์สู่คนเป็นสิ่งที่คาดคิดไว้ตั้งแต่แรก หลังพบว่า จุดเริ่มต้นมาจากตัวมิงค์ได้รับการติดเชื้อจากคนงานในฟาร์ม จากนั้นพวกมันก็แพร่เชื้อสู่คนอีกครั้ง และเนื่องจากพบการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ในตัวมิงค์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดด้วยการฆ่าตัวมิงค์ทั้งหมด

แต่อีกด้านหนึ่ง ซูมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO เปิดเผยว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่พบนั้นจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิดที่กำลังมีการพัฒนา โดยเธอระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO ระบุว่า เจ้าหน้าที่ WHO จะทำการตรวจสอบต่อไปเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ดังกล่าวร่วมกับทางรัฐบาลเดนมาร์ก

เปิดวิธีกำจัดตัวมิงค์ 17 ล้านตัว

สำหรับวิธีการกำจัดมิงค์ 17 ล้านตัว  ทางการเดนมาร์กต้องนำกองกำลังตำรวจเข้ามาช่วย และต้องใช้เวลาหลายวัน ขณะที่ในฟาร์มเลี้ยงมิงค์ส่วนใหญ่  Simone Montuschi ประธานองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ของอิตาลี Essere Animali อธิบายว่า พวกเขาจะใช้วิธีกำจัดด้วยก๊าซ แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้เกษตรใช้วิธีต่างๆ แต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะใช้การรมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการฆ่าสัตว์ปีกในช่วงที่มีโรคระบาด เพราะวิธีนี้จะทำให้สัตว์หมดสติภายใน 30 วินาที แต่ก็ถือว่าโหดร้ายและถือว่าไม่มีมนุษยธรรมมากนักในกรณีของตัวมิงค์ เนื่องจากมันเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับนากและพังพอนที่ชอบอยู่ในน้ำมัน จึงคุ้นเคยกับการกลั้นหายใจเป็นเวลานาน และผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า วิธีรมก๊าซทำให้ตัวมิงค์ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ใช้ก๊าซถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากผิวหนังของสัตว์ยังคงไม่ปริแตก หลีกเลี่ยงการปล่อยของเหลวในร่างกายที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เพราะหากเป็นสถานการณ์ปกติ ในอุตสาหกรรมขนสัตว์เมื่อกำจัดขนแล้ว ตัวของมิงค์จะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น นำไขมันของพวกมันไปทำน้ำมันมิงค์เพื่อใช้ในเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์

แต่ในกรณีของสัตว์ที่เป็นโรคมักจะกำจัดโดยการฝังกลบ เผาหรือทำปุ๋ยหมัก แต่วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เมื่อมีซากสัตว์จำนวนมาก โรงงานในท้องถิ่นและหลุมฝังกลบไม่สามารถร้องรับได้ ขณะที่การขนส่งศพไปยังสถานที่เผาอื่นจะเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ที่จะรองรับซากตัวมิงค์อย่างเพียงพอ

ตัวมิงค์เสี่ยงต่อโควิด -19 กว่าสัตว์ชนิดอื่นจริงหรือ

รายแรกของการระบาดของโควิด-19 จากฟาร์มมิงค์ซึ่งถูกพบในเนเธอร์แลนด์เมื่อเดือน พ.ค.เมื่อคนงานในฟาร์ม 2 คน มีผลตรวจตรวจหาไวรัสโควิด-19 ออกมาเป็นบวกและต้องสงสัยว่าติดเชื้อจากสัตว์

เนเธอร์แลนด์ พบผู้ติดโควิด-19 จากตัว “มิงก์” รายที่ 2

ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในเวลานั้นว่า อาจเป็น "กรณีแรกของการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน" นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้เดือนต่อมาเนเธอร์แลนด์กำจัดมิงค์ที่ป่วยทั้งหมด 10,000 ตัว

จากนั้นในเดือน ก.ค สเปน กำจัดมิงค์อีก 100,000 ตัว หลังจากพบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ในฟาร์มติดเชื้อ และยังพบกรณีของตัวมิงค์ที่ติดเชื้อในฟาร์มขนสัตว์ในอิตาลีอีกด้วย

จัสติน บัตเลอร์ นักวิจัยของ Viva วิเคราะห์ว่า ฟาร์มมิงค์ก็เหมือนกับฟาร์มโรงงานสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับไวรัสที่กลายพันธุ์ โดยสัตว์เหล่านี้มักจะอยู่ในกรงขนาดเล็กที่มีความแอดอัด

โดยอาการของตัวมิงค์มีลักษณะคล้ายคน ตัวมิงค์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  มีลักษณะเดียวกันกับมนุษย์ คือเชื้อไวรัสทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาและจะมีอาการแย่ลงในตัวมิงค์ที่มีอายุมาก

การกำจัดตัวมิงค์อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าขนสัตว์

เนเธอร์แลนด์สั่งปิดฟาร์มมิงก์ทั่วประเทศภายในมีนาคม 2021

ประเทศเดนมาร์กเป็นผู้ผลิตหนังและขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลก ทุกๆปีประเทศผลิตหนังมิงค์ 19 ล้านชิ้น มูลค่าการส่งออก 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การกำจัดมิงค์ทั้งหมดในประเทศอาจทำให้เดนมาร์กสูญเสียรายได้ถึง 800 ล้านดอลลาร์ และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์ แม้ว่ารัฐบาลจะชดเชยให้ก็ตาม

"สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือการระบาดครั้งใหม่เริ่มต้นอีกครั้งในเดนมาร์ก" คาเร โมลบัค ผู้อำนวยการสถาบัน State Serum กล่าว

ทางการเนเธอร์แลนด์เชื่อ มิงค์อาจนำโควิด-19 มาติดมนุษย์ได้

ทั้งนี้ หากมองในภาพกว้าง การที่ตัวมิงค์นับล้านตัวต้องถูกกำจัดลง อาจมีการตั้งคำถามถึงอุตสาหกรรมทำฟาร์มขนสัตว์ ที่กำลังถูกห้ามอย่างสิ้นเชิงในหลายประเทศ รวมถึง สหราชอาณาจักร ออสเตรีย โครเอเชีย เช็กลักเซมเบิร์ก และ เบลเยียม

ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ มีการควบคุมอย่างเข้มงวดมาก รวมถึงในประเทศอื่น ๆ แถบยุโรปยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับการยุติหรือห้ามทำอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสาธารณะที่ต่อต้านการฆ่าสัตว์เพื่อผลิตสินค้าฟุ่นเฟื่อย

ที่มา : CGTN (China Global Television Network)

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ