“อองซาน ซูจี-อดีตปธน.เมียนมา” ถูกตั้งข้อหาหลายกระทง
“อองซาน ซูจี” อาจติดคุก 2 ปี ครอบครองวิทยุสื่อสาร
บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของชาวเมียนมารายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนครย่างกุ้งเล่าว่า จู่ๆ พอถึงเวลา 5 โมงตรง เสียงปรบมือก็ค่อยๆ ดังกระหึ่มขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยเสียงแตรรถที่พากันตอบรับจากบนท้องถนน โดยเสียงปรบมือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนล่าสุด นอกเหนือจากวิธีการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสองวันที่ผ่านมา
ภาพจากอีกมุมหนึ่งเผยให้เห็นบรรยากาศในซอยหนึ่งของนครย่างกุ้ง จากภาพจะได้ยินเสียงปรบมือดังมาตามบ้านเรือนเช่นกัน แต่มีแค่เสียง ผู้คนยังใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายพยายามรณรงค์ให้ชาวเมียนมาแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติ
นอกจากการส่งเสียงปรบมือและเสียงแตรแล้ว บางจุดของนครย่างกุ้งมีรายงานพบว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งมารวมตัวถือป้ายประท้วง ซึ่งถือว่าเป็นการลงถนนประท้วงเป็นครั้งแรกในเมืองย่างกุ้ง
การประท้วงนี้เกิดขึ้นที่บริเวณตลาดแห่งหนึ่ง โดยผู้ประท้วงระบุว่า พวกเขาเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย บางคนถือโทรโข่งตะโกนข้อความด้วย แต่ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อภาพของผู้ประท้วงกลุ่มนี้ถูกเผยแพร่ไปบนโลกออนไลน์ ชาวเน็ตเมียนมาจำนวนไม่น้อยกังขาว่า คนเหล่านี้ใช่ผู้ประท้วงจริงหรือไม่ หรือเป็นกลยุทธที่ผู้ไม่หวังดีพยายามจะสร้างสถานการณ์ เนื่องจากหลายฝ่ายพยายามอย่างหนักที่จะเน้นให้ต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา นับเป็นคืนที่สองแล้ว ที่ชาวเมียนมาในเมืองย่างกุ้งออกมาเคาะหม้อ ไห จาน ชาม และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และบีบแตรรถยนต์จนสนั่นทั่วเมือง ไปจนถึงโบกธงสีแดง สัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) การประท้วงด้วยการทำให้เกิดเสียงดัง ด้วยวิธีต่างๆ กันไป เป็นการแสดงออกแบบอารขัดขืนรูปแบบหนึ่ง เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ
อย่างเช่น ชาวเมียนมารายนี้ ที่นำเครื่องดนตรีอย่างฉาบมาตีให้เกิดเสียงดัง หรือการนำฝาหม้อ จนถึงกะละมังมาเคาะให้เกิดเสียงและการเปิดแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐประหาร
ตามอาคารบ้านเรือนในเมืองย่างกุ้ง ต่างเต็มไปด้วยประชาชนที่ออกมายืนที่ระเบียงและเปิดแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือ จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ของชาวเมียนมา แสดงออกในลักษณะการทำอารยะขัดขืน (Civil Disobidience) คือการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ หรือข้อบังคับบางอย่างที่เคยทำเป็นปกติ หรือการก่อให้เกิดความรำคาญ หรือความวุ่นวาย แต่ล้วนเป็นการกระทำที่ปราศจากความรุนแรง
อย่างเมื่อวานนี้ที่บรรดาแพทย์ พยาบาลได้พากันนัดหยุดงานประท้วง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพื่อหวังว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งแรงกดดันไปยังกองทัพได้ โดยล่าสุดมีโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 80 แห่งแล้วที่เข้าร่วมการหยุดงานประท้วง
ส่วนบุคคลกรทางการแพทย์ที่ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่ พวกเขาเลือกแสดงออกด้วยการติดริบบิ้นสีแดงบนเครื่องแบบ ชูภาพริบบิ้นสีแดงหรือชูสามนิ้ว เป็นสัญญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ตกกลางคืน มีเจ้าหน้าที่การแพทย์ในเมืองย่างกุ้งออกมารวมตัวกันชูสามนิ้วร้องเพลงต่อต้านรัฐประหาร โดยเพลงที่พวกเขาเลือกร้องมีชื่อว่า “Kabar Ma Kyee Buu” ที่แปลว่า จะไม่ลืมจนกว่าจะถึงวันสุดท้าย เพื่อสื่อถึงการไม่ลืมการอยู่ภายใต้การกดทับของทหาร
ขณะที่การชูสามนิ้วหมายถึงภราดรภาพ สัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games สัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการประท้วงในหลายประเทศในเอเชีย และล่าสุดอีกอาชีพที่ออกมาเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพหยุดงานประท้วง คืออาชีพครู
สหภาพครูเมียนมาได้ออกประกาศเรียกร้องให้ครูทั่วประเทศหยุดงานประท้วง เพื่อหยุดรับใช้รัฐบาลทหาร และปกป้องระบบการศึกษาของประเทศจากการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ขณะที่สมาพันธ์นักเรียนเมียนมาได้ออกประกาศเรียกร้องให้ข้าราชการทั่วประเทศหยุดงานประท้วงเช่นกัน
การทำอารยะขัดขืนที่กำลังเกิดขึ้นนับเป็นความเคลื่อนไหวที่ชาวเมียนมาทั่วประเทศหันมาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากเพจเฟซบุ๊คที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อรณรงค์และสื่อสารเกี่ยวกับการทำอารยะขัดขืนทั่วประเทศ เพราะเพียงไม่นานหลังเพจนี้ถูกตั้งขึ้น มีชาวเมียนมามาติดตามมากกว่า 180,000 คน หรือทวิตเตอร์ ที่มีชาวเมียนมาหันมาสมัครใช้งานเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังเกิดรัฐประหาร
นอกจากนี้ การทำอารขัดขืนต่อต้านรัฐประหาร ยังมาถึงอาชีพทหารเองด้วย บนโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพและโพสต์ของทหารหญิงรายหนึ่ง เป็นเฟซบุ๊กที่ชื่อ ทุน มิง อ่อง แชร์ภาพทหารหญิงในเครื่องแบบที่เปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีแดง สนับสนุนนางอองซาน ซูจี พร้อมระบุว่า ทหารถูกฝึกมาเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่เพื่อเป็นศัตรูกับประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้ทหารคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญ
นับเป็นความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่ทหารเอง ซึ่งจะเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เพราะถ้าหากเกิดการประท้วงจากบรรดาทหารภายในกองทัพเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อกองทัพอย่างมีนัยยะสำคัญ ความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊คเพื่อต่อต้านรัฐประหารที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการสื่อสารบนแอปพลิชั่นแชทอย่าง Whatspp ทำให้กองทัพสั่งบล็อคเฟซบุ๊คทันที กระทรวงการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารของเมียนมาระบุว่า เฟซบุ๊คในเมียนมาจะถูกระงับห้ามใช้งานจนถึงวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้เฟซบุ๊คกำลังเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งมันได้บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ
โดย Netblocks องค์กรที่คอยสำรวจการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ยืนยันว่า ระบบการให้บริการอินเทอร์เน็ตของทางการเมียนมา ได้ระงับการใช้งานของเฟซบุ๊คจริง ไปจนถึงอินสตาแกรม และ Whatsapp ที่ถูกระงับการใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งการบล็อคเฟซบุ๊คในเมียนมา แทบจะเท่ากับการบล็อคอินเทอร์เน็ต เพราะเฟซบุ๊คถือว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลมากในเมียนมา เนื่องจากมีชาวเมียนมากว่าครึ่งหรือกว่า 53 ล้านคนที่ใช้เฟซบุ๊คในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน จนถึงองค์กรต่างๆ ที่ใช้เฟซบุ๊คในการสื่อสาร หรือปลุกระดมการเคลื่อนไหวทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม การบล็อคโซเชียลมีเดียเหล่านี้ในเมียนมา ไม่สามารถบล็อคทุกช่องทางได้ร้อยเปอร์เซนต์ เพราะชาวเมียนมาบนทวิตเตอร์ต่างออกมาอัดคลิปวีดีโอสาธิตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบ VPN ซึ่งเป็นเครือข่ายบนอินเตอร์เน็ตที่สามารถรับส่งข้อมูลได้ปลอดภัยมากขึ้น และสามารถเปลี่ยนภูมิภาคการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านการเปลี่ยนที่อยู่ของเซิร์ฟเวอร์ได้ ซึ่งจะทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการถูกบล็อคสัญญาณได้
ดังนั้นตอนนี้ ยังคงมีประชาชนบางรายสามารถที่ใช้เฟซบุ๊คและอินสตาแกรมได้ตามปกติ นักเคลื่อนไหวต่างแสดงความเห็นว่า การที่กองทัพตัดสินใจบล็อคเฟซบุ๊ค สะท้อนว่า กองทัพเองก็หวั่นกลัวต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนที่กำลังขยายวงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
แม้กองทัพเมียนมาบล็อคช่องทางการสื่อสารบนโลกออกไลน์ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความเคลื่อนไหวของประชาชนได้ เพราะเริ่มมีชาวเมียนมาออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนแล้ว และกองทัพก็ได้รุดเข้าจัมกุมตัวทันที ในเมืองมัณฑะเลย์ นักศึกษาแพทย์ออกมาชูป้ายประท้วงที่หน้ามหาวิทยาลัยการแพทย์ประจำเมือง เป็นการลงถนนประท้วงครั้งแรกตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา
พวกเขาต่างตะโกนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักการเมืองที่ถูกจับกุมตัวไป ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า ผู้ชุมนุม 3 คนได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปแล้ว ถือว่าเป็นการจับกุมตัวประชาชนครั้งแรกตั้งแต่มีการรัฐประหารเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ก่อเหตุรุนแรงก็ตาม
ก่อนหน้านี้ คยอ คยอ ทัต สมาชิกพรรค NLD เคยออกมาบอกว่า เขาต้องการให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างสันติ เพราะหากเกิดความรุนแรงที่นำไปสู่การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ มันจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพในการเข้ามายึดอำนาจ
สังเกตได้ว่าครั้งนี้ชาวเมียนมาเลือกต่อต้านรัฐประหารด้วยการทำอารยะขัดขืน และการลงถนนประท้วงโดยปราศจากความรุนแรง เพราะเขาเคยผ่านประวัติศาสตร์การปรามปรามอย่างรุนแรงมาแล้วในเหตุการณ์ลุกฮือประท้วงในปี 1988 ที่บริเวณเจดีย์ซูเล่ในเมืองย่างกุ้ง
การประท้วงในครั้งนั้นเริ่มจากนักเรียน นักศึกษา จุดติดไปยังพระสงฆ์ และประชาชนเรือนแสน ที่นำไปสู่การปรามปรามของกองทัพอย่างรุนแรง มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกปรามปรามนับพันคน
ทำให้ชาวเมียนมา ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวหลายฝ่ายในเมียนมา ต้องการเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังและแตกต่างไปจากเดิม เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่สุดท้ายแล้วประชาชนเองจะเป็นผู้เสียเลือดเนื้อ และจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในระยะยาว
อารยะขัดขืน และความเคลื่อนไหวบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในเมียนมาในช่วงสัปดาห์นี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการเมืองในเมียนมาหลังนี้เป็นอย่างมาก เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ถือว่าเกิดขึ้นในยุคที่ชาวเมียนมากว่าครึ่งประเทศเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็น ดังนั้นช่องทาง และรูปแบบในการเคลื่อนไหวของประชาชนย่อมแตกต่างจากในอดีต อีกทั้งชาวเมียนมาเองก็มีบทเรียนจากในอดีต ที่พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ซึ่งอินเทอร์เน็ตจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลังท่ามกลางการปิดกั้นเสรีภาพของกองทัพได้