รู้จักกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 เปิดศึกกองทัพเมียนมา ต้านรัฐประหาร
ท่ามกลางความขัดแย้ง หนึ่งในแนวรบที่ระอุคือ พื้นที่ในรัฐกระเหรี่ยง หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศ การทิ้งระเบิดโจมตีเกิดขึ้นหลังทหารจากกองพลน้อยที่ 5 ของสหภาพกระเหรี่ยงหรือ KNU โจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังเมียนมา ทำให้ทหารเมียนมาเสียชีวิต 9 นาย
กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศทันที โดย KNU ระบุว่า การโจมตีทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย หนึ่งในนั้นติดอยู่ในกองเพลิง ซึ่งทาง KNU ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของร่างผู้เสียชีวิตที่ไหม้เป็นตอตะโก ชาวกะเหรี่ยงอพยพออกจากพื้นที่ อย่างน้อย 3,000 คนมุ่งหน้ามาที่ชายแดนไทย แนวรบด้านตะวันออกระอุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ชาวกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา มีประชากรราว 1.5-2 ล้านคน อาศัยอยู่ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ภายใต้ชื่อสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือ KNU และกองกำลังหรือปีกการทหารที่ชื่อว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง หรือ KNLA
ชาติพันธุ์กระเหรี่ยงสู้รบการรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี 1949 หรือ 72 ปีมาแล้ว โดยมีข้อเรียกร้องคือ สิทธิในการปกครองตนเอง การสู้รบหนักๆในช่วงทศวรรษ 50 ถึง 60 มักเกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนไทยเป็นหลัก
ช่วงหนึ่งที่รุ่งเรืองที่สุดของสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือ KNU คือ ช่วงปี 1976 ภายใต้การนำของนายพลโบเมี๊ยะ มีฐานบัญชาการอยู่ที่เมืองมาเนอร์ปลอว์ ไม่ไกลนักจากชายแดนไทย ฐานที่เมืองมาเนอร์ปลอว์ถูกตีแตกเมื่อปี 1995 ตามมาด้วยการแยกตัวออกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มไปเข้ากับกองทัพพม่า เกิดเป็นความร้าวลึก
เข้าสู่ปี 2011 เมียนมาเริ่มเปิดประเทศ รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่นำโดยนายพลเต็งเส่งประกาศเจรจาสันติภาพกับกองกำลังชาติพันธุ์ทั่วประเทศ KNU เข้าร่วมการเจรจาด้วย นำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงของชาติพันธุ์รวม 10 กลุ่ม และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามกลางเมือง การต่อสู้อย่างตามแนวชายแดนไทย-พม่าเริ่มสงบลง
ก่อนจะเริ่มร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เกือบจะทันทีที่กองทัพเมียนมาที่นำโดยนายพลมินอ่องหล่ายยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ชาติพันธุ์กระเหรี่ยงลุกขึ้นประกาศต่อต้านการยึดอำนาจและเปิดหน้ารบกับกองทัพเมียนมาอย่างเปิดเผย
จับตา! กองกำลังชาติพันธุ์เมียนมา หลัง CRPH ปลดล็อก ยิงสู้กองทัพได้
หลังการรัฐประหารไม่กี่วัน ปรากฏภาพของทหาร KNU เดินนำหน้าชาวกระเหรี่ยงในจังหวัดเมียวดีที่ออกมาทำอารยะขัดขืน เดินขบวนประท้วงให้กองกอพเมียนมาร์ปล่อยตัวนางอองซานซูจีและคืนอำนาจให้ประชาชน หลังจากนั้นก็เปิดฉากต่อสู้กับกองทัพเมียนมาหลายครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม เกิดการปะทะกัน มีทหารพม่าเสียชีวิต
14 มีนาคม ปรากฎมีภาพเรือกองทัพเมียนมาร์บริเวณแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่มั่นของ KNU นี่เป็นส่วนหนึ่งของระเบิดและกระสุนที่กองทัพเมียนมาร์ยิงเข้ามาในพื้นที่กะเหรี่ยงและล่าสุดคือการโจมตีฐานทหารจนทำให้กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีพื้นที่รัฐกระเหรี่ยง เกิดการอพยพของผู้คนเข้ามาฝั่งไทย
เมื่อเทียบกำลังพลกันแล้ว KNU และ KNLA ไม่สามารถสู้กับกองทัพ กองทัพเมียนมา หรือทัดมาดอว์ได้เลย
รายงานระบุว่า KNU/KNLA มีกำลังพลอยู่ประมาณ 15,000 นาย
ขณะที่กองทัพเมียนมาที่มีกำลังพลมากกว่า 500,000 นาย อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลกด้านความแข็งแกร่ง มีกองทัพบกที่เข้มแข็ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการรบทางบก เช่น รถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ ปืนใหญ่เกือบห้าพันชิ้น และศักยภาพการรบทางอากาศที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
ยังไม่นับรวมการฝึกใหม่ของกองทัพเมียนมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่กองกำลังถูกทำให้มีความเชี่ยวชาญตั้งแต่การรบจรยุทธ์ในแบบที่กลุ่มชาติพันธุ์เชี่ยวชาญไปจนถึงการรบแบบเต็มรูปแบบหรือ Conventional Warfare
แต่ทำไม KNU จึงเปิดหน้าสู้ คำตอบคือ เพราะการสู้ครั้งนี้คือโอกาสที่ดีที่สุดในการไปสู่เป้าหมายคือการปกครองตนเอง และที่สำคัญ การต่อสู้คราวนี้ไม่ได้เป็นการต่อสู้โดยใช้การทหารเพียงอย่างเดียว
พร้อมๆกับการรบ KNU ทำงานทางการเมืองควบคู่กันไปด้วยการเจรจากับกลุ่ม CRPH กลุ่มการเมืองที่ตั้งขึ้นโดยนักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจีที่กำลังผลักตัวเองให้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลคู่ขนานและการยอมรับ การสนับสนุนจากนานาชาติ
ตัวแทนของ CRPH คือ ซาไล หม่อง ไทน่ แซน หรือดอกเตอร์ชาซ่าโพสต์ข้อความการพบปะกันทางออนไลน์กับ KNU เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า กำลังเจรจากันเพื่อร่วมมือต่อสู้กับกองทัพเมียนมา และหากชนะ สหภาพกระเหรี่ยงจะได้รับสิทธิในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง
สิทธิการปกครองตนเองคือเป้าหมายสูงสุด เป้าหมายของชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ความฝันที่เมียนมาหรือพม่าจะมีการปกครองแบบสหพันธรัฐ ความฝันที่มีมานานกว่า 72 ปีจะเป็นจริงได้หรือไม่ อีกไม่นานคงรู้กัน