เมื่อวันจันทร์ (3 พ.ค.) เดนมาร์กกลายเป็นประเทศแรกที่ระงับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จากความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีด ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากแต่ร้ายแรง เหตุผลเดียวกับที่สั่งระงับการใช้วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาไปก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือน เม.ย.
หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ประโยชน์ของการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จากจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไม่อาจลบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลเสียกับผู้ที่ได้รับวัคซีน”
เดนมาร์กระงับใช้วัคซีนโควิด-19 “แอสตราเซเนกา” เป็นการถาวร
สหรัฐฯ ระงับฉีดวัคซีน J&J หลังพบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
วัคซีนโควิด-19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่เดนมาร์กทำสัญญาซื้อขายไว้ และการตัดสินใจนี้จะทำให้แผนการฉีดวัคซีนให้ถึงเป้าของเดนมาร์กล่าช้าไปถึง 4 สัปดาห์
ปัจจุบัน เดนมาร์กฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรแล้วกว่า 1.4 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ และเริ่มทยอยปลดมาตรการคุมเข้มตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. เนื่องจากอัตราการติดเชื้อชะลอตัวลง ทำให้กิจการสถานที่ในร่ม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สนามกีฬา กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง
“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันในเดนมาร์ก สิ่งที่เราจะยอมสูญเสียไปในความพยายามในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ไม่ควรมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของการอุดตันของเลือดอย่างรุนแรงในผู้ที่รับการฉีดวัคซีน” ทางการเดนมาร์กกล่าว
กระนั้น ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ ทางการเดนมาร์กก็ตกลงที่จะอนุญาตให้ประชาชนที่สมัครใจสามารถรับวัคซีนโควิดข19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันและแอสตราเซเนกาได้
สำนักงานยายุโรป (EMA) กล่าวเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ว่า พบความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันกับปัญหาการแข็งตัวของเลือด
อย่างไรก็ตาม EMA รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างสนับสนุนให้มีนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งสองยี่ห้อต่อไป โดยระบุว่า ประโยชน์ยังมีมากกว่าความเสี่ยง
ปัจจุบัน เดนมาร์กมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมราว 255,000 ราย เสียชีวิตสะสมเกือบ 2,500 ราย
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP