ฟอซันฟาร์มา (Fosun Pharma) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการผลิตวัคซีนและทำการตลาดให้กับไฟเซอร์และไบออนเทค ในประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน กล่าวว่า สำนักงานผลิตภัณฑ์การแพทย์แห่งชาติของจีน (NMPA) เพิ่งเสร็จสิ้นการตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 mRNA ที่ฟอซันและไบออนเทคพัฒนาร่วมกัน
โดยวัคซีนดังกล่าวก็คือตัวเดียวกับ “BNT162b2” หรือที่เรียกกันติดปากว่า "วัคซีนไฟเซอร์" ซึ่งมีการใช้ป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ในประเทศจีนจะถูกเรียกว่า วัคซีนฟอซัน-ไบออนเทค
ทูตสหรัฐย้ำวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสถึงไทยแน่
ไฟเซอร์-ไบออนเทค แจ้งลงนามสัญญาซื้อขายไทย ส่งวัคซีน 20 ล้านโดส ไตรมาส 4/64
ประธานบริษัทฟอซัน อู๋อี่ฟาง บอกกับที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะเริ่มการผลิตเองในประเทศก่อนสิ้นเดือน ส.ค. นี้ และจะผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ได้ถึง 1 พันล้านโดสต่อปีภายในสิ้นปีนี้
ขณะนี้ตัววัคซีนโควิด-19 ฟอซัน-ไบออนเทคได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว กำลังตรวจสอบรายละเอียดการบริหารจัดการอยู่
ก่อนหน้านี้นิตยสารข่าวไฉซินได้อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับ NMPA ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลยากำลังมองหาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เพื่อนำมาฉีดให้ประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส เป็นการฉีดเข็มบูสเตอร์ แต่ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่า ลำดับการฉีดบูสเตอร์จะจัดสรรให้กลุ่มใดก่อน แต่ยืนยันได้ว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์นี้ฟรีแน่นอน
วัคซีนที่พัฒนาโดยจีนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated) ซึ่งมีอัตราประสิทธิภาพการป้องกันต่ำกว่าวัคซีนอื่น ๆ ที่พัฒนาในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้คิดจะพึ่งพาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จากภายนอกทางเดียว เพราะได้มีการพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน มีชื่อว่า “ARCoV” เกิดจากความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่าง บริษัทซูโจว อ้ายโป๋ ไบโอไซเอนส์ (Suzhou Abogen Biosciences) สถาบันวิทยาศาสตร์การทหาร (AMS) และบริษัทวาลแวกซ์ไบโอเทคโนโลยี (Walvax Biotechnology)
ขณะนี้วัคซีน ARCoV อยู่ในขั้นตอนของการทดลองทางคลินิกในมนุษย์เฟส 3 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ของจีนเพียงตัวเดียวที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วม 28,000 คน กว่า 1 ใน 4 เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบในต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก ซึ่งจะมีอาสาสมัคร 6,000 คน
ผลการทดลองทางคลินิกเฟส 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด-19 ARCoV ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ มีเพียงข้อมูลที่ระบุว่า ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ได้รับวัคซีนมีการตอบสนองดี และมีการสร้างแอนติบอดีต่อต้านโควิด-19 ในระดับที่น่าพึงพอใจ
วัคซีน ARCoV ยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องการเก็บรักษา เพราะสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียสได้นานถึง 6 เดือนเต็ม และเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1 สัปดาห์
ซึ่งความสามารถในการเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็นอุณหภูมิติดลบนี้ ทำให้หาก ARCoV มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาจริง ก็จะมีข้อได้เปรียบในด้านการขนส่งและจัดเก็บ
นอกจาก ARCoV ยังมีวัคซีนโควิด-19 mRNA ของโรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ตะวันออก (Shanghai East Hospital) บริษัทสเตมีร์นาเทอราพิวติกส์ (Stemirna Therapeutics) และบริษัทธิเบต โรดิโอลา ฟาร์มา (Tibet Rhodiola Pharma) โดยตัวนี้อยู่ในการทดลองทางคลินิกในมนุษย์เฟส 1
ทั้งนี้ จีนเพิ่งให้ความสนใจวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เพราะมีข้อมูลว่า ทางบริษัทฟอซันพยายามยื่นเรื่องให้มีการอนุมัติใช้วัคซีนของไบออนเทคมาตั้งแต่ พ.ย. 2020 แต่ไม่ได้รับการตอบรับและถูกยืดเวลาพิจารณาออกไป
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในช่วงนั้น จีนต้องการชูขีดความสามารถในด้านการพัฒนาวัคซีนของตน และไม่ต้องการให้มีวัคซีนจากต่างประเทศมาแย่งซีนความสำเร็จไป
จนเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เกาฟู่ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CCDC) ได้ออกมายอมรับว่า วัคซีนโควิด-19 ที่จีนมีอยู่ ณ ขณะนั้น มีความสามารถในการป้องกันโรคได้ไม่ดีพอ
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า เราควรใช้วัคซีนที่แตกต่างจากสายเทคนิคที่แตกต่างกันสำหรับกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่” เขาบอก
นอกจากนี้ เขายังยกย่องประโยชน์ของวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน 2 ชนิดที่เขาเห็นว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด คือไฟเซอร์และโมเดอร์นา
“ทุกคนควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่วัคซีน mRNA สามารถนำมาสู่มนุษยชาติได้ ... เราต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและอย่าเพิกเฉยต่อวัคซีน mRNA เพียงเพราะเรามีวัคซีนหลายประเภทอยู่แล้ว” เกาฟู่กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในชาติที่ดูจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันไม่ถึงหลักร้อย ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนก็อยู่ที่มากกว่า 10 ล้านโดสต่อวัน ทั้งนี้ไม่มีรายงานชัดเจนว่า มีประชากรในจีนได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกี่คน
หากวัคซีน mRNA ของจีนประสบความสำเร็จในการผลิตและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นฟอซัน-ไบออนเทคที่เกิดจากความร่วมมือกับต่างชาติ หรือ ARCoV ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA ออริจินัลของจีน ก็อาจส่งผลต่อมิตรสหายอย่างไทย ที่อาจมีลู่ทางในการนำเข้าวัคซีน mRNA ที่ง่ายดายยิ่งขึ้น
เรียบเรียงจาก AP / Caixin / Fortune / Reuters
ภาพจาก