สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ เชื่อว่าสิ่งสุดท้ายที่เราต้องการเห็น คือการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ในระดับน่ากังวล และการยกระดับความน่ากังวลของ “สายพันธุ์มิว” โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อต้นสัปดาห์ ก็ทำให้หลายคนต้องโอดครวญว่า “ยังไม่หมดอีกเหรอ”
โควิด-19 สายพันธุ์มิว มีชื่อทางการคือ B.1.621 พบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย เมื่อเดือน ม.ค. และพบแล้วใน 43 ประเทศ มีรายงานว่ามีความทนทานต่อวัคซีนและหลบหนีจากภูมิคุ้มกันได้ แต่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม
ญี่ปุ่นพบโควิดสายพันธุ์ “มิว” ครั้งแรก หลัง WHO เฝ้าจับตา
อนามัยโลก จับตาโควิดสายพันธุ์ “มิว” ต้านทาน-หนีภูมิคุ้มกันได้
WHO ยกระดับโควิด-19 สายพันธุ์โคลอมเบีย มอบโค้ดเนม “สายพันธุ์มิว”
โดยสายพันธุ์มิวระบาดหนักสุดในโคลอมเบีย สัดส่วนการระบาดสูงถึง 39% ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประเทศที่มีประชากรเพียง 29% เท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส
แต่ในขณะที่สายพันธุ์มิวสร้างความหวาดกลัวให้กับหลายประเทศ ก็มีรายงานว่า สายพันธุ์มิวกำลังลดลงอย่างมากในโคลอมเบีย โดยแพทย์ประจำ ICU ของโรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองต่าง ๆ ของโคลอมเบียได้เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศลดลงอย่างมาก โดยจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันลดลงเหลือต่ำกว่า 100 ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เหลือประมาณ 2,000 รายต่อวัน
กระนั้นโควิด-19 สายพันธุ์มิวก็ได้สร้างบาดแผลไม่รู้ลืมให้กับโคลอมเบียไว้ เพราะมันเป็นต้นเหตุหลักของการระบาดระลอดที่สามของโคลอมเบีย ในช่วงที่พีคที่สุดวันที่ 26 มิ.ย. สายพันธุ์มิวมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของการเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมด มีผู้ป่วยรายใหม่วันเดียว 33,500 ราย และเสียชีวิตอีก 693 ราย
ปัจจุบัน ประชาชนในโคลอมเบียส่วนใหญ่ได้หลุดพ้นจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนานที่สุดในโลกแล้ว จำนวนการครองเตียงไอซียูของโคลอมเบียในปัจจุบันอยู่ที่ราว 60% ขณะที่ถึงบาร์และคลับต่าง ๆ ทั่วประเทศกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ดร.ไฮเม ออร์โดเนซ โมลินา นักวิจัยอาวุโสบอกว่า “ขณะนี้ เราได้ผ่านพ้นพายุไปแล้วครึ่งลูก และตอนนี้เราจะต้องเผชิญกับอีกครึ่งหนึ่งซึ่งก็คือสายพันธุ์เดลตา (เดลตา) เราต้องประเมินสถานการณ์ทั้งหมดอีกครั้ง เมื่อดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และโอเชียเนียในขณะนี้”
ดร.โมลินากล่าวว่า "ข่าวดีก็คือ เรามีชัยชนะเหนือสายพันธุ์มิวแล้ว ยอดโควิด-19 ในโคลอมเบียลดลงมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว และการลดลงนี้สามารถสังเกตได้ชัดเจนเมื่อประมาณ 12 วันที่ผ่านมา ... สิ่งนี้ยืนยัน 2 สิ่ง อย่างแรกคือโคลอมเบียเอาชนะสายพันธุ์มิวได้ และอย่างที่สองคือ วัคซีนที่เรามีอยู่รับมือสายพันธุ์นี้ได้”
โดยวัคซีนโควิด-19 ที่โคลอมเบียใช้อยู่คือ จอห์นสันฯ โมเดอร์นา แอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ และซิโนแวค เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้วัคซีนหลากหลายพอสมควร
ข้อมูลบอกตัวเอง และกราฟแสดงการแพร่ระบาดที่ลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับที่รัฐบาลโคลอมเบียยกย่องความสำเร็จด้วยการฉีดวัคซีนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แต่ข่าวร้ายคือ โคลอมเบียจะต้องเผชิญการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกอย่างแน่นอน และครั้งนี้ก็อาจจะเป็นสายพันธุ์เดลตา
แคโรไลนา วิลลาดา โฆษกสถาบันสุขภาพแห่งชาติโคลอมเบีย (INS) กล่าวว่า “หากเปรียบการระบาดของเดลตาในสหรัฐฯ เป็นแผ่นดินไหว โคลอมเบียเราก็จะเจอกับอาฟเตอร์ช็อกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า”
หากการคาดการณ์นี้ถูกต้อง แสดงว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งจะนับเป็นระลอกที่สี่ในโคลอมเบีย และสถานการณ์อาจจะแย่ลงไปอีก หากสายพันธุ์มิวอยู่ร่วมกับเดลตาโดยไม่ถูกกลืนหายไป
มาร์ธา ออสปินา ผู้อำนวยการ INS บอกว่า “ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศบางคนกล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์มิวดูเหมือนจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับสายพันธุ์เดลตา และข้อมูลก็พบว่า สัดส่วนสายพันธุ์มิวลดลงไป 11% ในแต่ละวันเมื่อเทียบกับเดลตา”
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจับตามองสายพันธุ์มิว เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ INS รวมถึงนักวิจัยกำลังกระตุ้นให้ผู้คนอย่าลดความระมัดระวังลง
“ด้วยสายพันธุ์ที่แสดงถึงความสามารถในการแพร่เชื้อและการติดเชื้อ กับประเทศที่มีคนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสนี้ เชื่อว่ายังมีวันที่ยากลำบากมากรอเราอยู่ข้างหน้า” ดร.โมลินากล่าว
เรียบเรียงจาก The Daily Beast
ภาพจาก Getty Image
คาดอีก 30 ปี ทั่วโลกสมองเสื่อม 139 ล้านคน