เป็นที่ทราบกันดีว่า โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ ที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติในอนาคต นักรณรงค์หลายคนและทางการจากหลายประเทศ ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาโลกของเราใบนี้ไว้ให้ได้
นิวมีเดีย พีพีทีวี ชวนดูข้อเท็จจริงจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา; NASA) ที่ได้รวบรวมหลักฐานความเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาไว้ ให้เราได้ตระหนักว่า เรากำลังทำร้ายโลกเพียงใด
นักวิทย์ชี้ “กองทัพและการทหาร” อีกหนึ่งตัวการสำคัญทำให้โลกร้อน
"ธารน้ำแข็ง" ธรรมชาติที่กำลังละลายหายไปเพราะโลกร้อน
โลกจะยังคงร้อนขึ้น 2.4 องศาฯ ต้องลดก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งใน 10 ปี
นับจากปี 1880 เป็นต้นมา อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.18 °C
ในปี 1880 เป็นปีที่โลกเพิ่งก้าวสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ได้ไม่กี่สิบปี มีการใช้พลังงานถ่านหิน พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน เพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิโลก ณ เวลานั้น อยู่ที่ -0.16 °C จากอุณหภูมิเฉลี่ย
เมื่อโลกพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและน้ำมันมาโดยตลอด ก็เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบกับอุณหภูมิของโลก โดยในปี 2020 อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยถึง 1.02 °C หากนับจากปี 1880 จึงเท่ากับว่า ในช่วงเวลา 140 ปีที่ผ่านมา โลกร้อนขึ้นถึง 1.18 °C
ใน 140 ปีนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า 19 ปีที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 หรือเกือบ 20 ปีหลังมานี้เอง โดยปี 2016 และปี 2020 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่นาซาเริ่มมีการเก็บบันทึกข้อมูลอุณหภูมิโลก
ขอบเขตน้ำแข็งขั้วโลกเหนือหายไป 13% ทุกทศวรรษ
โดยปกติ บริเวณมหาสมุทรอาร์ติก หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ขั้วโลกเหนือก็มีฤดูกาลหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ “ฤดูน้ำแข็งละลาย” โดยขอบเขตน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะอยู่ในระดับต่ำสุดในช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี หลังจากนั้นอากาศจะเย็นขึ้นและผืนน้ำบางส่วนจะกลับมากลายเป็นน้ำแข็งเหมือนเดิม นักวิทยาศาสตร์จึงนับเอาขนาดของน้ำแข็งในเดือน ก.ย. เป็นเกณฑ์ในการสังเกตผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม แม้น้ำแข็งละลายส่วนหนึ่งจะเกิดจากกลไกตามฤดูกาล ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกก็ทำให้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า ขอบเขตน้ำแข็งในอาร์กติกในช่วงที่ต่ำที่สุดในปัจจุบัน ลดลงเหลือน้อยกว่าระดับต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
โดยขอบเขตน้ำแข็งอาร์กติกในเดือน ก.ย. กำลังลดเหลือน้อยลงในอัตรา 13% ต่อทศวรรษ ในเดือน ก.ย. ปี 1979 จากการสังเกตการณ์ผ่านดาวเทียม พบว่าขอบเขตน้ำแข็งในอาร์กติกมีขนาดอยู่ที่ราว 7 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณทวีปออสเตรเลีย แต่ในเดือน ก.ย. ปี 2012 ขอบเขตน้ำแข็งลดลงเหลือเพียง 3.57 ล้านตารางกิโลเมตร หรือหายไปราวครึ่งหนึ่งของปี 1979
แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายปีละ 427 ล้านตัน
ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาพบว่า ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา มวลของแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) และกรีนแลนด์-อารร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายและเสียมวลไปเฉลี่ย 151 ล้านตันต่อปี ส่วนแผ่นน้ำแข็งอาร์ติกละลายและเสียมวลไปเฉลี่ย 276 ล้านตันต่อปี รวมทั้งโลกจะเสียแผ่นน้ำแข็งไป 427 ล้านตันต่อปี
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.4 มิลลิเมตรต่อปี
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมีสาเหตุหลักจากปัจจัย 2 ประการที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การน้ำจากแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งที่ละลายเพราะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของน้ำทะเลเนื่องจากอากาศอุ่นขึ้นจึงไม่กลับไปเป็นน้ำแข็งอีก
ข้อมูลระดับน้ำขึ้นน้ำลงชายฝั่งและข้อมูลดาวเทียม ระบุว่า จากช่วงปี 1900 มาถึงปี 2018 ระดับน้ำทะเลมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยพบว่า ในปี 2018 ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากปี 1900 มากกว่า 200 มิลลิเมตร หรือราว 20 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 3.4 มิลลิเมตรต่อปี หรือก็คือ หากปล่อยไว้อย่างนี้อีก 10 ปี ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีกกว่า 3 เซนติเมตร
แนวทางในวันนี้คือตัวออกแบบอนาคต
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงและไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเช่นกัน เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมืองชายฝั่งบางเมืองอาจสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน หรือประเทศหมู่เกาะบางประเทศ อาจถูกลบไปจากหน้าแผนที่โลกก็เป็นได้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หลายฝ่ายพยายามออกมารณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์เราในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้น้ำมัน หันไปใช้พลังงานทดแทน ปลูกต้นไม้มากขึ้นและลดการทำลายธรรมชาติ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการโลกร้อน รวมถึงต้องมีความร่วมมือกันในระดับโลก เพื่อให้ทุกประเทศก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน ไม่ใช่เพียงประเทศร่ำรวยที่มีทางรอดแต่ฝ่ายเดียว
จีนอ่วม! โควิดเดลตาระบาดครั้งใหญ่สุด พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายเมือง
อย่าหลงเชื่อ กลุ่มแอนตี้วัคซีนในสหรัฐฯ แชร์วิธี “ล้างพิษ” วัคซีนโควิด
“ปัจจุบัน” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากวางเฉย ปล่อยให้โลกเป็นอย่างนี้ต่อไป ตัวเราและลูกหลานของเรา ก็จะไม่มีแผ่นดินให้อยู่อย่างแน่นอน
เรียบเรียงจาก NASA
ภาพจาก Getty Image / NASA