ทีมนักวิจัยที่นำโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาขนาดเล็กว่า ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการติดโควิด-19 โอมิครอนนั้น ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้น้อยมาก และผู้ที่ติดเชื้อเดลตา ก็ป้องกันโอมิครอนได้น้อยลงเช่นกัน
เพื่อตรวจสอบการตอบสนองของแอนติบอดีและขอบเขตของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ต่างสายพันธุ์ ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างพลาสมาจากผู้ป่วย 53 รายที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง
“โอมิครอน BA.1” กินสัดส่วนการระบาดทั่วโลก “BA.2” มาแรงรุกหนักเดนมาร์ก
ผู้ป่วยเกินครึ่งของสหรัฐ ป่วยเป็นโอมิครอนสายพันธ์ุย่อย BA.2
โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 หนีวัคซีนได้น้อยกว่า BA.1 เล็กน้อย
ในจำนวนนี้ มี 39 เป็นโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และอีก 14 รายติดสายพันธุ์โอมิครอน โดยตรวจสอบระดับแอนติบอดีจากผู้ป่วยเมื่อเจอกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา และโอมิครอน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อธิบายผลการทดลองว่า “กลุ่มผู้ป่วยที่หายจากการติดเดลตา มีระดับแอนติบอดีที่ยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและเดลตาได้ไม่ต่างกัน และอยู่ในระดับที่ 1871 ที่ถือว่าสูงมาก แต่ภูมิจากการติดเดลตาเมื่อทดสอบกับไวรัสโอมิครอนพบว่าตกลงมาอยู่เพียง 40 หรือ ลดลงมากถึง 46.8 เท่า”
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า เป็นไปได้สูงว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตามาไม่เพียงพอต่อการป้องกันโอมิครอน
ซึ่ง ดร.อนันต์บอกว่า ผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับข้อมูลคนที่ติดโอมิครอนซ้ำในกลุ่มที่เคยป่วยจากเดลตามาแล้ว
เขาเสริมว่า “ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่กลุ่มที่ติดและหายป่วยจากโอมิครอนมา พบว่าภูมิที่วัดได้ต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และเดลตาน้อยกว่ากลุ่มที่ติดเดลตามาพอสมควร คือ อยู่ที่ 624 และ 284 ตามลำดับ พูดง่าย ๆ คือ ภูมิจากโอมิครอนที่จะข้ามมาป้องกันเดลตามีน้อยกว่าการป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 2.2 เท่า”
แต่ที่น่าแปลกใจมากคือ ภูมิจากการติดเชื้อโอมิครอนเองก็ดูเหมือนจะยับยั้งโอมิครอนได้น้อยเช่นเดียวกัน “จากรายงานนี้ได้ภูมิต่อโอมิครอนเพียงแค่ 94 ซึ่งน้อยกว่าภูมิต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 6.6 เท่า ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าภูมิจากผู้ป่วยที่ติดและหายป่วยจากโอมิครอนมา อาจมีไม่มากพอที่จะป้องกันการติดโอมิครอนซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอมิครอนที่ห่างจากโอมิครอนปกติอย่าง BA.2 ได้อีก”
ดร.อนันต์อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการติดเชื้อโอมิครอนที่อาการน้อย ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกรณีการติดเดลตา
ทีมวิจัยยังได้ทำการเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ กับกลุ่มที่มีอาการชัดและหนัก และพบความแตกต่างอย่างชัดเจน
โดยกลุ่มที่ติดเดลตามามีค่าระดับภูมิเฉลี่ยสูงถึง 14,853 เทียบกับกลุ่มที่ติดโอมิครอนได้ภูมิอยู่ที่ 1,524 ซึ่งต่างกันเกือบ 10 เท่า สอดคล้องกับตัวเลขของกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงที่ได้ค่าสูงถึง 20,481 เทียบกับกลุ่มที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการที่ 3,407
“ข้อมูลของการศึกษานี้บอกว่า ภูมิจากการติดเชื้อจากธรรมชาติเองไม่เหมือนกันครับ คนที่ติดไวรัสมาแล้วอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีโอกาสที่มีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ไม่สูงมาก และอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อซ้ำโดยเฉพาะเมื่อเวลายาวนานออกไป หรือสายพันธุ์นั้นเริ่มปรับตัวเปลี่ยนมากขึ้น ... ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาภูมิจากวัคซีนมาช่วยครับ” ดร.อนันต์สรุป
ก่อนหน้านี้ ดร.อนันต์ ยังเคยโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนที่มีความห่างไกลกันในการกลายพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถข้องภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อเชื้ออีกสายพันธุ์
“ภาพนี้แสดงให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของไวรัส 2 สายพันธุ์หลักได้อย่างชัดเจนครับ เดลตา กับ โอมิครอน ยิ่งนานวันจะยิ่งไกลจากกัน หัวลูกศรชี้ไปคนละทิศทางแบบนี้แสดงว่า ภูมิจากการที่ติดโอมิครอนอาจจะไม่ช่วยป้องกันเดลตาได้ดีเท่าที่ควร ยกเว้นโอมิครอนที่ติดมาช่วยกระตุ้นภูมิต่อเดลตาจากวัคซีนที่ฉีดกันตอนนี้ได้บ้าง แต่ระดับในการป้องกันเดลตายังไม่ชัดว่าจะได้มากขนาดไหน เพียงพอจะหยุดเดลตาได้จริง ๆ หรือไม่” ดร.อนันต์ระบุ
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ที่หลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา กำลังพัฒนา โดยต่างประกาศว่าเป็นวัคซีนเวอร์ชันรับมือโอมิครอนโดยเฉพาะ
“ถ้าในอนาคตข้างหน้า วัคซีนที่ออกแบบมาสำหรับโอมิครอนโดยเฉพาะคิดว่าจะมีปัญหาในการป้องกันเดลตาตัวใหม่ ๆ แน่นอน ดูทรงแล้ววัคซีนในขวดอาจจะต้องเป็นอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ในขวดเดียวกัน เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มี H1N1 และ H3N2 อยู่ด้วยกัน” ดร.อนันต์บอก
ภาพจาก AFP / Anan Jongkaewwattana