ภาพประชาชนที่ต่อแถวยาวเหยียดหน้าตู้เอทีเอ็มในกรุงมอสโกเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) เพื่อรอถอนเงิน หลังค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่าหายไปแล้วกว่า 1 ใน 3 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเงินที่เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกประกาศใช้เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ชาวมอสโกเหล่านี้บอกว่า พวกเขาพยายามถอนเงินออกจากตู้เอทีเอ็มหลายๆ ที่ แต่ถอนไม่ได้เลย หลายคนกังวลว่ารัฐบาลรัสเซียจะแช่แข็งเงินฝากเงินตราต่างประเทศของพวกเขาด้วย
เกาหลีใต้-สิงคโปร์ คว่ำบาตรรัสเซีย
ผู้เชี่ยวชาญมองเจรจาไร้ข้อสรุปไม่เกินคาด
มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกมีตั้งแต่จำกัดความสามารถของธนาคารกลางที่จะใช้ทองคำและทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยน ไปจนถึงการตัดธนาคารใหญ่ๆ ของรัสเซียออกจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ การจำกัดดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางรัสเซียต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ
ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ออกคำสั่งห้ามการส่งเงินสดสกุลต่างประเทศ มูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์ ออกนอกประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้
ก่อนหน้านี้ ชาวรัสเซียก็เริ่มเจอผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรบ้างแล้ว อย่างลูกค้าธนาคารรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร ก็จะไม่สามารถใช้บริการของวีซ่า มาสเตอร์การ์ด แอปเปิลเพย์ และกูเกิลเพย์ได้
รถไฟใต้ดินต้องแจ้งเตือนผู้โดยสารที่อาจมีปัญหาในการชำระตั๋วโดยสารผ่านดิจิทัลวอลเลต และขอให้ใช้บัตรเอทีเอ็มแทน
ส่วนตลาดหลักทรัพย์มอสโกยังคงปิดทำการในวันนี้ เป็นวันที่สาม แต่ระบุว่า จะเปิดให้ซื้อขายแบบจำกัดในสัปดาห์นี้
มาตรการคว่ำบาตรยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับรัสเซีย บริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง เมอส์กของเดนมาร์ก เอ็มเอสซีของสวิตเซอร์แลนด์ และซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม ของฝรั่งเศส ระบุว่า จะปิดรับจองขนส่งสินค้าจากรัสเซีย และจะรับการส่งสินค้าส่วนใหญ่ชั่วคราว ยกเว้น อาหาร สินค้าเกี่ยวกับการแพทย์ และมนุษยธรรม โดยอ้างผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร และเหตุผลด้านความปลอดภัย
ขณะที่หลายบริษัทออกมาแสดงจุดยืนตอบโต้การกระทำของรัสเซียในยูเครน โดยล่าสุด บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ประกาศว่า จะเริ่มถอนตัวโครงการร่วมทุนในแหล่งน้ำมันหลัก ซาคาลิน-1 (Sakhalin-1) พร้อมกับย้ำว่าจะไม่ลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในรัสเซียอีก
ก่อนหน้านี้ บริษัทบีพี (BP) ของอังกฤษ และเชลล์ (Shell) ของเนเธอร์แลนด์ ก็ประกาศถอนตัวจากโครงการร่วมทุนกับรัสเซียแล้วเช่นกัน ขณะที่บริษัทโตตาล (Total Energies) ของฝรั่งเศส แม้จะไม่ถอนตัว แต่ก็ระบุว่าจะไม่เอาเงินไปลงเพิ่ม