บ้านเรือนใจกลางกรุงเคียฟถูกโจมตีหนัก ยูเครนเพิ่มเวลาเคอร์ฟิว 35 ชม.
นาโต ยืนกรานไม่ประกาศเขตห้ามบิน จ่อเสริมกำลังทหารแนวรบฝั่งตะวันออก
คาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน วันนี้แหลกสลายพังพินาศจากการถูกถล่มด้วยีปนาวุธตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียเปิดฉากสงคราม อาคารที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นที่ถูกถล่ม จตุรัสเสรีภาพใจกลางเมืองตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นจตุรัสเสรีภาพได้อีกต่อไป ที่นี่คือเมืองที่มีหลักฐานปรากฏว่า รัสเซียใช้อาวุธต้องห้ามอย่างคลัสเตอร์บอมบ์หรือระเบิดลูกปราย
แต่วันนี้คนที่ยังอยู่ในเมืองนี้กลัวอาวุธอีกอย่างที่อนุภาพทำลายล้างสูงกว่า เช่น อาวุธเคมี
ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมือง หมอและพยาบาลช่วยกันเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงไปที่ชั้นใต้ดิน นี่กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งในยามมีไซเรนเตือนบอกการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย
นอกเหนือจากยารักษาโรค อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่หมอและพยาบาลเตรียมไว้ให้ผู้ป่วยรวมถึงพวกเขาเองคือ หน้ากากกันสารพิษหรือสารเคมี การเตรียมพร้อมไม่ได้เกิดจากการตื่นตกใจเกิดเหตุ สำหรับคนที่นี่ อาวุธเคมีอาจถูกนำมาใช้จริงเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 10 วันที่ผ่านมา
8 มีนาคม มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้ว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในยูเครน ซึ่งใช้พัฒนาอาวุธเคมีและชีวภาพ ซึ่งสหรัฐและยูเครนต้องออกมาอธิบายเรื่องนี้โดยด่วน
วันถัดมา เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ออกมาเปิดแถลงข่าวสวนกลับว่า การกล่าวหาว่าสหรัฐฯ มีโครงการลับในยูเครนคือกลอุบายของรัสเซียที่ใช้ในการสร้างความชอบธรรมเพื่อโจมตียูเครนด้วยอาวุธที่รุนแรงมากขึ้นอย่างเช่นอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ
เรื่องนี้ซับซ้อนอ่อนไหวมากขึ้นหลังจากที่จีนออกมาพูดแบบเดียวกับรัสเซีย โดยจ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคมระบุว่า ได้รับหลักฐานที่น่าเชื่อถือจากรัสเซียว่าสหรัฐฯ ได้สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเชื้อโรคที่อาจใช้ทำเป็นอาวุธชีวภาพได้
ก่อนที่ต่อมา เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ได้เปิดแถลงข่าวตอบโต้ข้อกล่าวหา และระบุว่ากังวลมากกับความพยายามในการสร้างเรื่องของรัสเซียเพื่อหาความชอบธรรมในการใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพในยูเครนหลังจากที่แผนการทางการทหารของรัสเซียไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
คำถามคือ ยูเครนมีแลปที่วิจัยเชื้อโรคจริงหรือไม่ ก่อนหน้านี้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเปิดประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคมเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ตามคำร้องของของรัสเซีย และสรุปว่า ข้อกล่าวหาของรัสเซียไม่มีมูล โดยระบุว่า ห้องแลปในยูเครนมีจริง แต่เป็นเพียงห้องแลปที่ใช้วิจัยเชื้อโรคที่ใช้ในทางวิชาการเพื่อป้องกันโรคระบาด เหมือนกับอีกที่หลายประเทศมี ไม่ใช่การวิจัยเพื่อพัฒนาอาวุธชีวภาพ
องค์การอนามัยโลก ได้เสนอแนะให้ยูเครนทำลายเชื้อโรคเหล่านี้ เนื่องจากเกรงว่าผลจากการโดนโจมตีด้วยขีปนาวุธจะทำให้เชื้อเหล่านี้แพร่กระจายออกมา
เป็นอีกครั้งที่อาวุธชีวภาพกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คน
อาวุธชีวภาพ คือ การนำเชื้อโรคร้าย เช่น อีโบลา มาใช้เป็นอาวุธเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยอาจนำมาบรรจุกับขีปนาวุธและยิงใส่คู่ต่อสู้ ในช่วงสงครามเย็นทั้งฝั่งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างแข่งขันกันพัฒนาอาวุธชีวภาพอย่างเข้มข้น
ทางสหภาพโซเวียตเคยมีโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพขนาดใหญ่ที่ชื่อ "ไบโอพรีพาราท" (Biopreparat) ซึ่งเป็นเครือข่ายห้องวิจัยและสถาบันวิจัยอาวุธชีวภาพขนาดใหญ่ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายมีการพบข้อมูลว่ารัสเซียมีอาวุธชีวภาพจำนวนมากในคลัง ทั้งเชื้อโรคแอนแทรกซ์ หรือจากโรคฝีดาษ
อาวุธอีกชนิดที่ถูกมองว่าอาจถูกนำมาเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้คือ อาวุธเคมี อาวุธที่บรรจุสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์หลังจากสัมผัสหรือสูดดม อาวุธเคมีมีหลายประเภทและส่งผลแตกต่างกันไป มีทั้งที่ทำลายระบบประสาท ทำลายระบบโลหิต และสารเคมีที่ทำลายระบบหายใจ เท่าทีมีการบันทึกไว้ อาวุธเคมีมักถูกนำมาใช้ในช่วงที่ผู้ทำสงครามต้องการเผด็จศึกจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ อาวุธเคมีจะถูกใช้เป็นไม้ตายหวดให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน
ตัวอย่างหนึ่งคือ สงครามอิรัก-อิหร่านที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1980-1988 อิหร่านสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับอิรักที่ขณะนั้นมีกำลังและอาวุธเหนือกว่าจากการสนับสนุนของสหรัฐและซาอุดิอารเบีย ในช่วงท้ายสงคราม ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรักตัดสินใช้อาวุธเคมี ทหารอิหร่านหลายพันคนเสียชีวิตอย่างทรมาน ท่ามกลางการเพิกเฉยของประชาคมโลก
การใช้อาวุธเคมีเป็นส่วนหนึ่งบีบบังคับให้อิหร่านต้องยอมทำข้อตกลงยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 8 ปี จวบจนปี 1997 การใช้อาวุธเคมีเป็นสิ่งต้องห้ามตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี หลายชาติรวมถึงรัสเซียได้ร่วมลงนามไว้
แต่ตอนนี้ สนธิสัญญาอะไรก็ดูเหมือนไม่มีความหมาย มีหลักฐานว่า ปี 2013 ประธานาธิบดีอัล อัสซาดของซีเรียใช้อาวุธเคมีเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ซีเรียได้ลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีระหว่างประเทศ เมื่อสนธิสัญญามีไว้ให้ฉีก มาวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ผู้คนโดยเฉพาะคนที่อยู่ท่ามกลางอาวุธสังหารโดยไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซียจะกังวล
ก่อนหน้านี้ ชาวเมืองก็ยังมีความหวังว่ารัสเซียอาจไม่บุกรุกเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่ถึงวันนี้ การเตรียมหน้ากากป้องกันสารพิษ จึงไม่ใช่ความวิตกที่เกินเลย