แอนตาร์กติกาอุ่นขึ้น 40 องศาเซลเซียส ทำ “หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์” ยุบตัว

โดย PPTV Online

เผยแพร่

หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์ในแอนตาร์กติกาตะวันออก ถล่มยุบตัวลงอย่างสมบูรณ์ หลังอุณหภูมิในพื้นที่อุ่นขึ้น 40 องศาเซลเซียส

หิ้งน้ำแข็ง (Ice Shelf) คือแผ่นน้ำแข็งที่มีความหนา ลอยตัวเหนือมหาสมุทร ซึ่งอาจก่อตัวเป็นธารน้ำแข็งหรือพืดน้ำแข็งที่ไหลลงสู่ชายฝั่งและบนพื้นผิวมหาสมุทร พบในทวีปแอนตาร์กติกา เกาะกรีนแลนด์ ประเทศแคนาดา และภูมิภาครัสเซียอาร์กติกเท่านั้น

บทบาทสำคัญในการควบคุมน้ำแข็งภายในทวีป หากไม่มีพวกมัน น้ำแข็งจากใจกลางทวีปก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรเร็วขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

นักวิทย์ยูเครนกำลังจะเสร็จภารกิจในแอนตาร์กติกา แต่ไม่มีบ้านให้กลับ

“แอนตาร์กติกา” มี “พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น” ผลพวงจากอากาศที่อุ่นขึ้น

ปี 2021 ยังร้อนอยู่ ร้อนสุดเป็นอันดับ 5 นับแต่มีการบันทึก

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์ (Conger) ในแอนตาร์กติกา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบแล้วเท่ากับขนาดประมาณกรุงโรม หรือประมาณจังหวัดสมุทรปราการของบ้านเรา ได้ถล่มยุบตัวลงอย่างสมบูรณ์ ไม่กี่วันหลังจากอุณหภูมิในทวีปสูงเป็นประวัติการณ์

แอนตาร์กติกาตะวันออกมีอุณหภูมิสูงผิดปกติในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยสถานีคอนคอร์เดียวัดอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -11.8 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งร้อนกว่าปกติถึง 40 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้เป็นผลมาจาก “แม่น้ำในบรรยากาศ” ที่กักความร้อนไว้ทั่วทวีป

สำหรับแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric River) คือกระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนอยู่ในชั้นบรรยากาศ และพัดพาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก

ดร.แคเธอรีน โซเลลโล วอล์กเกอร์ นักวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ที่นาซาและสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล กล่าวว่า แม้ว่าหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่นี่เป็นเหตุการณ์น้ำแข็งถล่มที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในทวีปแอนตาร์กติกา นับตั้งแต่หิ้งน้ำแข็งลาร์เซนบี (Larsen B) ยุบตัวไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000

“มันจะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่น่าจะเป็นสัญญาณของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” วอล์กเกอร์กล่าว

หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์เริ่มละลายหดตัวลงตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 จนวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์ดูเหมือนจะสูญเสียพื้นที่ผิวไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการวัดในเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร

ปีเตอร์ เนฟฟ์ นักธรณีวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าวว่า การได้เห็นหิ้งน้ำแข็งเล็ก ๆ ยุบตัวในแอนตาร์กติกาตะวันออกเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

“เรายังคงปฏิบัติต่อแอนตาร์กติกาตะวันออกเหมือนก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ สูง แห้ง เย็น และเคลื่อนที่ไม่ได้ ... ความเข้าใจในปัจจุบันส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า แอนตาร์กติกาตะวันออกมีอัตราการสูญเสียน้ำแข็งไม่เร็วเท่าที่เกิดในแอนตาร์กติกาตะวันตก เนื่องจากสภาพที่ต่างกัน” เขากล่าว

เนฟฟ์เสริมว่า “การยุบตัวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเชื่อมโยงกับความร้อนจัดที่เกิดจากแม่น้ำในชั้นบรรยากาศเมื่อกลางเดือน มี.ค. จะทำให้มีการวิจัยในภูมิภาคนี้เพิ่มเติม”

ข้อมูลดาวเทียมจากภารกิจ Copernicus Sentinel-1 แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวก่อนยุบตัวของหิ้งน้ำแข็งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค. เนฟฟ์กล่าว

เฮเลน อะแมนดา ฟริกเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านธารน้ำแข็งที่ศูนย์สคริปส์โพลาร์กล่าวว่า นอกจากการยุบตัวถล่มของหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์แล้ว ในแอนตาร์กติกาตะวันออกยังมีธารน้ำแข็งท็อตเทนและหิ้งน้ำแข็งเกลนเซอร์ด้วยที่เกิดการเปลี่ยนแปลง

“พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคแอนตาร์กติกาตะวันออกมักมีหิ้งน้ำแข็งค้ำยันสมดุลเอาไว้ ดังนั้นเราจึงต้องจับตาดูหิ้งน้ำแข็งทั้งหมดที่นั่น” ฟริกเกอร์กล่าว

ศ.แมตต์ คิง ผู้นำศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์แอนตาร์กติกของออสเตรเลีย กล่าวว่า เนื่องจากหิ้งน้ำแข็งลอยอยู่ในมหาสมุทรอยู่แล้ว การยุบตัวถล่มของหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลมากนัก

เขากล่าวว่า โชคดีที่ธารน้ำแข็งที่อยู่ด้านหลังหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์มีขนาดเล็ก ดังนั้นมันจึงมีผลกระทบเล็กน้อยต่อระดับน้ำทะเลในอนาคต

“เราจะเห็นชั้นน้ำแข็งแตกตัวมากขึ้นในอนาคตด้วยภาวะโลกร้อน ... เราจะเห็นหิ้งน้ำแข็งขนาดใหญ่ ใหญ่กว่านี้ พังทลายลงมา ซึ่งเพียงพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลโลกอย่างรุนแรง” คิงกล่าว

สถานการณ์นำแข็งในแอนตาร์กติกาที่เริ่มละลาย ยุบตัว หรือถล่มลงมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับอนาคตของธารน้ำแข็งทเวตส์ ซึ่งมีขนาดเท่าฟลอริดา และมีชื่อเล่นว่า “ธารน้ำแข็งวันโลกาวินาศ” เพราะมีขนาดใหญ่กว่าลาร์เซนบีประมาณ 100 เท่า และหากละลายหรือยุบตัว จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งเมตร

"ความเร็วของการแตกตัวของหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์เตือนเราว่า สิ่งต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ... การปล่อยคาร์บอนของเราส่งผลกระทบต่อทวีปแอนตาร์กติกาทั้งทวีป และแอนตาร์กติกาจะกลับมาเอาคืนโลก และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิด” คิงกล่าว

สภาพอากาศวันนี้ ไทยอากาศร้อน ฝนตกบางแห่ง เตือนพายุฤดูร้อน 1-2 เม.ย. ก่อนอุณหภูมิลด

โควิดวันนี้(30มี.ค.) ยอดติดเชื้อ+ATK เกิน 5 หมื่นราย เสียชีวิต 87 ราย

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก USNIC

Bottom-AllStar Bottom-AllStar

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ