“ความอดอยาก" อาวุธใหม่ของรัสเซียในสงครามยูเครน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เข้าสู่วันที่ 91 ของสงครามในยูเครน ตอนนี้ต้องจับตาดูการรบทางภาคตะวันออกและภาคใต้ เพราะมีรายงานว่า รัสเซียรุกคืบยึดพื้นที่ได้มากขึ้น ในขณะที่การเจรจายุติสงครามยังไม่มีหวัง เพราะฝั่งรัสเซียประกาศเดินหน้ารบต่อจนกว่าจะบรรลุผล และมีอีกหนึ่งอาวุธสำคัญ ที่รัสเซียนำมาใช้คือ อาหารและความอดอยาก

เริ่มกันที่สถานการณ์การสู้รบทางภาคตะวันออกของยูเครนในภูมิภาคดอนบาสกันก่อน ที่นี่การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดุเดือด โดยเมื่อช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดการปะทะที่เมืองคาร์คีฟ อีซุม รูบิชเนีย ซีเวโรโดเนตสก์ และโปปาสนา

พล.อ.อ. ชอน เบลล์ วิเคราะห์ว่า จุดโฟกัสใหม่คือ เมืองซีเวโรโดเนตสก์และรัสเซียได้โมเมนตัมการรบกลับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบมาเป็นการยึดพื้นที่ทีละน้อยด้วยกองทัพใหญ่

รัสเซียกลายเป็นชาติที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด

"ยูเครน"ชิงพื้นที่ทางตะวันออกคืนจากรัสเซียได้มากขึ้น

อีกทั้งรัสเซียมีแผนจะล้อมกองทัพยูเครนด้วยกองทัพที่เดินทางมาจากเมืองโปปาสนา และรูบิชเนีย เพื่อตัดกำลังของกองทัพยูเครน

ซึ่งวิธีดังกล่าวค่อนข้างโหดร้าย และสร้างความยากลำบากให้แก่กองทัพยูเครน แต่เป็นวิธีเดียวที่สร้างหลักประกันได้ว่ารัสเซียจะสามารถยึดภูมิภาคนี้ได้ และคนที่ออกมายืนยันความโหดร้ายที่เกิดขึ้นนี้คือ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน

เขาระบุว่า ทหารยูเครนกำลังเจอกับความยากลำบากที่นั่น โดยเฉพาะในแนวต้านที่เมืองโปปาสนา ซีเวโรโดเนตสก์ และสลาเวียนสก์ เพราะรัสเซียใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมมากด้วยการทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้พังราบคาบ เหมือนกับที่เคยทำกับเมืองมาริอูปอล

ไม่มีใครทราบความเสียหายที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในการรบแนวนี้ แต่คาดว่าทุกๆ วันทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก

ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวเมื่อ 2-3 วันก่อนว่า นี่คือสมรภูมิรบที่โหดเหี้ยมและรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรป

มีรายงานว่า สภาพของหลายเมืองในภาคตะวันออกล้วนพังยับเยินจากการโจมตีของรัสเซียประชาชนไม่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้ และต้องอพยพออกมาอย่างต่อเนื่อง จนหลายเมืองหลายหมู่บ้านมีสภาพร้าง

ส่วนอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำลายล้างโดยรัสเซีย ด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไม่ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อได้ ที่เห็นคือ การทำลายคลังเก็บน้ำมันของเมืองลีซีชันสก์

ส่วน ภาพของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตจากการรบบนแผ่นดินยูเครนร่างไร้ชีวิตของทหารรัสเซียกว่า 60 ร่างกำลังถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในห้องเย็นของตู้รถไฟส่วนหนึ่งของทหารรัสเซียที่เสียชีวิตมาจากสมรภูมิในคาร์คีฟ

คาร์คีฟอยู่ถัดจากดอนบาส เป็นหนึ่งในสมรภูมิที่การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด หลังต่อสู้กันนานกว่า 2 เดือน ยูเครนก็สามารถยึดคืนพื้นที่ได้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

จากการให้สัมภาษณ์ของทหารฝั่งยูเครน ทหารรัสเซียบางนายปลิดชีวิตตัวเอง นอกจากเก็บศพทหารรัสเซีย ยูเครนยังเก็บหลักฐานทุกอย่างที่สามารถระบุอัตลักษณ์ของทหารเหล่านี้ไว้ เช่น เอกสาร บัตรเครดิต

ด้วยความหวังว่า ในอนาคตจะสามารถนำร่างของทหารรัสเซียเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนกับนักโทษสงครามชาวยูเครนที่ทางรัสเซียจับเอาไว้

สงครามครั้งนี้ยังไม่จบลงในเร็ววัน และยิ่งสงครามถูกลากยาว โลกก็จะเห็นภาพแบบนี้เพิ่มมากขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่าน ๆ มา ไม่มีสงครามใดที่ยุติได้ด้วยการฆ่าล้างกันให้สิ้นซาก ทุกสงครามยุติได้ด้วยการเจรจา

คำถามคือ โลกจะได้เห็นการเจรจาระหว่างผู้นำยูเครนและรัสเซียหรือไม่ คำตอบคือ อาจยังไม่เห็นในระยะอันใกล้นี้

เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน ได้ออกมาเสนอการตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อยุติสงคราม ระหว่างที่กล่าวสุนทรพจน์ทางออนไลน์ต่อที่ประชุมเศรษฐกิจโลกที่จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

แต่ดูเหมือนผู้นำรัสเซียจะไม่สนใจเรื่องการเจรจา สังเกตได้จากท่าทีของ เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย ที่เปิดแถลงข่าวและประกาศว่า รัสเซียจะไม่หยุดสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร จนกว่ารัสเซียจะบรรลุเป้าประสงค์

เป้าประสงค์ของรัสเซียที่ว่าคืออะไร อย่างน้อยที่สุด รัสเซียต้องการยึดภูมิภาคดอนบาสให้ได้ทั้งหมด และเชื่อมต่อยาวลงไปจนถึงทางใต้ 

พื้นที่ทางตอนใต้หลังจากรัสเซียยึดเมืองมาริอูปอลและเคอร์ซอนได้แล้ว ขณะนี้รัสเซียกำลังพยายามยึดเมืองมิโคลายีฟให้ได้ เพื่อเข้าไปยึดในจุดที่สำคัญที่สุดของแถบนี้คือ เมืองโอเดสซา ซึ่งตั้งอยู่บนทะเลดำ

หากยึดโอเดสซาได้สำเร็จ รัสเซียจะได้ครอบครองอดีตเมืองท่าสำคัญในสมัยสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การสร้างจักรวรรดิรัสเซียใหม่ตามที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินต้องการ

โอเดสซา เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน สัดส่วนการขนส่งสินค้าเข้าและออกมากกว่าร้อยละ 70 เกิดขึ้นที่ท่าเรือของเมืองนี้

สินค้าทางการเกษตรที่สำคัญอย่างข้าวสาลีจากยูเครน วัตถุดิบตั้งต้นของอาหารหลักหลายอย่างที่หล่อเลี้ยงคนเกือบค่อนโลก ก็ถูกส่งออกจากท่าเรืองในเมืองโอเดสซา

แม้ในตอนนี้รัสเซียยังไม่สามารถยึดโอเดสซาได้ก็จริง แต่รัสเซียสามารถทำให้การขนส่งสินค้าในเมืองนี้เป็นอัมพาตได้ ด้วยการนำกองเรือในทะเลดำไปปิดเส้นทางเดินเรือที่จะเข้าออกเมืองท่านี้

การกระทำดังกล่าวทำให้ตอนนี้ยูเครนไม่สามารถส่งออกส่งออกสินค้าได้เลย แม้จะมีผลผลิตที่เกษตรกรจำนวนมากพยายามเก็บเกี่ยวไว้

ข้าวสาลีจำนวนมากที่เก็บเกี่ยวไว้ก่อนสงครามยังคงค้างอยู่ในโกดัง เกษตรกรจำนวนมากเดือดร้อนหนัก เพราะขายผลผลิตไม่ได้ หลายคนบอกว่า นี่คือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม

นอกจากรัสเซียจะบีบไม่ให้ยูเครนส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้แล้ว มีรายงานด้วยว่ารัสเซียพยายามขโมยผลผลิตทางการเกษตรของยูเครนกลับประเทศ

หนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันว่ารัสเซียขโมยข้าวสาลีจากยูเครน คือ ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า รัสเซียกำลังขนถ่ายกระสอบที่คาดว่าข้างในเป็นข้าวสาลีหรือผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากขึ้นเรือ ที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือในแคว้นไครเมีย การใช้อาหารเป็นอาวุธหรือการทำให้ยอมจำนนไม่ใช่เรื่องใหม่

ในสมัยของโจเซฟ สตาลินก็เคยทำมาแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่า "โฮโลโดมอร์" คำนี้เป็นชื่อเรียกนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียต ที่กำหนดให้พืชพลทางการเกษตรทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวได้ในยูเครนต้องถูกส่งไปที่ส่วนกลาง

นอกจากนี้ บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ที่ดิน ข้าวของ ล้วนถูกรัฐเวนคืน ส่งผลให้เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง และขาดแคลนอาหารทั่วสหภาพโซเวียต จนคนยูเครนล้มตายไปเป็นล้านคน

ผ่านไปเกือบหนึ่งศตวรรษ ผู้นำรัสเซียนำอาหารมาเป็นอาวุธอีกครั้งและไม่ใช่แค่เพียงชาวยูเครนที่กำลังทุกข์หนักจากการขายผลผลิตไม่ได้หรือบางจุดอาจถึงขั้นไม่มีอาหารเพียงพอ คนเกือบค่อนโลกก็ได้รับผลกระทบด้วย

ยูเครนคือแหล่งปลูกข้าวสาลีที่สำคัญของโลก ร้อยละ 70 ของข้าวสาลี วัตถุดิบตั้งต้นของอาหารหลักหลายอย่างที่หล่อเลี้ยงคนมาจากที่นี่

เมื่อท่าเรือในโอเดสซา ถูกกองเรือรัสเซียปิดไว้ ข้าวสาลีจึงเดินทางออกไปหล่อเลี้ยงโลกไม่ได้

ตอนนี้ หลายประเทศเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ‘ภาวะวิกฤต’

และนี่คือ การประกาศสงครามความหิวโหยของประธานาธิบดีปูติน ที่มีคนยากจนในหลายประเทศตกเป็นเหยื่อ หากทุกประเทศละเลย ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะ “น่าสยดสยอง”

ด้วยเหตุนี้ทำให้ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปต้องออกมาแถลงว่า สหภาพยุโรปจำเป็นต้องเจรจากับรัสเซียเรื่องการส่งออกข้าวสาลี เพื่อป้องกันวิกฤตทางอาหารที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก

ด้วยสงครามที่ยืดเยื้อ การปิดท่าเรือเพื่อไม่ให้ส่งออกข้าว ทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะย่ำแย่จนองค์การกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ต้องออกมาเตือนถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

โดยคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF ได้กล่าวในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า โลกอาจเผชิญความวุ่นวายทางด้านเศรษฐกิจ และการส่งออก

เธอกล่าวว่า ตอนนี้มีอย่างน้อย 30 ประเทศแล้วที่จำกัดการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น ทุกประเทศควรโฟกัสประเด็นตรงนี้ด้วย และย้ำว่าโลกอาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศด้วย

ประเมินกันว่า ถ้ารัสเซียยุติสงครามแค่ที่ดอนบาส เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบน้อยลง แต่ถ้ารัสเซียตัดสินใจรุกคืบต่อ ด้วยเป้าหมายการยึดพื้นที่ทางตอนใต้อย่างมิโคลายิฟ และโอเดสซา สงครามยูเครนอาจลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้ และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทานและการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าแน่นอน

เนื่องจากพื้นที่ทางใต้ของยูเครนคือ เมืองท่าที่สำคัญซึ่งเป็นจุดที่ผลิตและส่งออกอาหารเลี้ยงคนทั้งโลก หากสงครามเกิดขึ้น การส่งออกจะหยุดชะงัก และโลกอาจเผชิญกับโฮโลโดมอร์อีกครั้งในศตวรรษที่ 21

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ