วันนี้ 31 พ.ค.การต่อสู้ในพื้นที่ด้านตะวันออกยังคงหนักหน่วง เนื่องจากรัสเซียต้องการยึดพื้นที่ทั้งหมดของภูมิภาคดอนบาสให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีการปะทะกันในพื้นที่ด้านตะวันออกระหว่างทั้งสองฝ่าย
โดยมีจุดปะทะที่สำคัญอยู่ 5 จุด คือ ที่เมืองอีซุม ลีมาน รูบิชเนีย ซีเวโรโดเนตสก์และ โปปาสนา เมื่อลงไปดูรายละเอียดของแผนที่จะพบว่า ตอนนี้รัสเซียได้ล้อมกองทัพยูเครนอยู่ทั้งสามด้าน คือ ในเมืองลีมาน รูบิชเนีย และโปปาสนา และเป้าหมายของรัสเซียคือ ยึดพื้นที่ทั้งหมดที่ปิดล้อมอยู่ให้ได้
รัสเซียกลายเป็นชาติที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด
“ความอดอยาก" อาวุธใหม่ของรัสเซียในสงครามยูเครน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไมเคิล คาลร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การป้องกันจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ สหราชอาณาจักร วิเคราะห์ว่า การยึดพื้นที่ที่ปิดล้อมอยู่นั้นเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัสเซีย
เนื่องจากพื้นที่ระหว่างเมืองลีมานไปถึงเมืองโปปาสนา มีระยะห่างราว 70 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างมากถึง 718 ตารางกิโลเมตร หรือครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพฯ
เมื่อไปพิจารณาด้านการวางกำลัง จะพบว่า ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองลิซีแชนสก์ กองทัพยูเครนมีทหารอยู่ที่นี่ถึง 4 กองพัน หรือประมาณ 20,000 นาย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้หมายความว่า ทหารรัสเซียกำลังล้อมทหารยูเครนอยู่ ทำให้ตอนนี้จุดสำคัญของการรบ จะอยู่ที่เมืองแฝดสองแห่งทางตะวันตกของภูมิภาคอย่างเมืองสลาเวียนสก์และครามาทอร์สก์ เพราะกองกำลังยูเครนสามารถถอยจากเมืองลิซิแชนสก์มาที่นี่ได้
ในขณะเดียวกันรัสเซียเองก็จำเป็นต้องยึดสองเมืองนี้เพื่อปิดล้อมพื้นที่ที่เหลือใต้เมืองลิซิแชนสก์ แต่ตอนนี้ รัสเซียจำเป็นต้องยึดซีเวโดเนตสก์ให้ได้ทั้งหมดก่อน
หลังจากนั้น รัสเซียจะย้ายกองกำลังจากเมืองโปปาสนาที่ยึดได้แล้วเคลื่อนมาทางตะวันตกเฉียงของเพื่อยึดพื้นที่ที่ใต้ลิซีแชนสก์และล้อมทหารยูเครน
แต่การยึดพื้นที่ระหว่างเมืองโปปาสนาและลีมานตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก พื้นที่มีระยะห่างราว 70 กิโลเมตร ขณะที่รัสเซียยึดพื้นที่ได้วันละ 2-3 กิโลเมตร ดังนั้นหากจะยึดพื้นที่ที่เหลือตรงนี้ จะต้องใช้เวลาราว ๆ 23 วัน
ศาสตราจารย์คาลร์ก กล่าวว่า ด้วยระยะเวลากว่าจะสำเร็จตามแผน ทำให้กองทัพยูเครนที่อยู่ในเมืองลิซีแชนสก์มีเวลาคิดแผนการต่อไป ว่าจะข้ามแม่น้ำขึ้นไปยึดเมืองซีเวโรโดเนตสก์ โดยเสริมทัพด้วยเสบียงจากเมืองบัคมุตหรือไม่ โดยเสบียงจากเมืองบัคมุต จะเข้ามาทางถนนหมายเลข T1302 ซึ่งยูเครนยึดคืนกลับมาจากกองทัพรัสเซียได้
เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกมายืนยันว่า สถานการณ์ในภูมิภาคดอนบาสตอนนี้ มีความยากลำบากมาก ด้วยการสู้รบที่หนักหน่วง ทำให้ยูเครนเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
แต่การอพยพเต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากรัสเซียยิงขีปนาวุธเข้าใส่เส้นทางที่ใช้ในการอพยพ เช่น รถไฟ ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนไปอพยพด้วยรถยนต์แทน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอพยพเมื่อวานนี้ มีรายงานว่า ขบวนรถของพลเรือนถูกขีปนาวุธจากรัสเซียยิงเข้าใส่ ส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 1 ราย
ผู้สื่อข่าวรายดังกล่าวคือ เฟดเดอริก เลอเคลิร์ก อิมฮอฟ (Frédéric Leclerc-Imhoff) สัญชาติฝรั่งเศส วัย 32 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากสะเก็ดและแรงระเบิด
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างที่อิมฮอฟ และทีมงาน อยู่บนรถบัส ที่นำพลเรือนออกจากพื้นที่สู้รบ โดยขบวนรถอพยพพลเรือนมียานยนต์หุ้มเกราะของทหารยูเครนนำ ทำให้ตกเป็นเป้าการโจมตีของรัสเซียได้ง่าย
สถานีโทรทัศน์ช่อง BFM TV ต้นสังกัดของอิมฮอฟระบุว่า นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เขาได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่รายงานข่าวในประเทศยูเครน
อิมฮอฟเป็นนักข่าวที่ทำงานหนักและทุ่มเทมาตลอด ที่ผ่านมาเขาและทีมงานได้ปฏิบัติตามแนวทางของการรายงานข่าวจากพื้นที่อันตรายทุกประการ การเสียชีวิตของเขาเกิดจากการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซีย ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้โพสต์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเฟดเดอริก ผ่านทวิตเตอร์เมื่อบ่ายวานนี้
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส เรียกเหตุการณ์ที่รัสเซียโจมตีขบวนรถอพยพของพลเรือนว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง และเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวให้เร็วที่สุด
ตอนนี้ภาคตะวันออกของยูเครนโดนโจมตีอย่างหนัก เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัสเซียได้เปรียบและโจมตีหนักบริเวณนี้คือ กองทัพรัสเซียสามารถส่งกองกำลังบำรุงจากชายแดนรัสเซียมาได้
โดยจุดหนึ่งที่รัสเซียใช้เป็นฐานสนับสนุนและการส่งกำลังบำรุงคือ เมืองเบลโกรอด ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนยูเครนไปเพียง 45 กิโลเมตร
ในทางกลับกัน ยูเครนต้องรับมือกับรัสเซียด้วยความยากลำบาก เพราะการขนส่งอาวุธและกำลังบำรุงต้องใช้เวลา โดยอาวุธส่วนใหญ่ที่ส่งมาที่นี่ มาจากเมืองลวิฟทางตะวันตกของยูเครนที่ห่างออกไปประมาณ 1,200 กิโลเมตร
สิ่งที่ยูเครนต้องการตอนนี้คือ ขีปนาวุธที่มีพิสัยไกล เพราะถ้ามีขีปนาวุธนี้จะทำให้ยูเครนสามารถสกัดการรุกคืบของรัสเซียให้ช้าลงได้ และอาจใช้เพื่อยิงเข้าไปในรัสเซีย โดยเฉพาะที่เบลโกรอดซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่รัสเซียใช้เป็นจุดหลักในการสนับสนุนการรบในยูเครน เพื่อตัดกำลังไม่ให้รัสเซียสามารถส่งการสนับสนุนได้
ยูเครนขอให้สหรัฐส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้ เพราะตัวหลักที่ใช้อยู่คือ ปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ 777 ซึ่งมีพิสัยการยิงเพียง 25 กิโลเมตร และไปไม่ไกลพอที่จะถึงเบลโกรอด
เมื่อวานนี้ Washigton Post รายงานว่า สหรัฐฯ อาจจะส่งระบบยิงจรวดต่อเนื่องหลายลูกแบบพิสัยไกลหรือ MLRS รุ่น M270 ให้กับยูเครน โดยตัวนี้มีพิสัยการยิงถึง 300 กิโลเมตร
สถานีโทรทัศน์ของรัสเซียรายงานข่าวนี้และระบุว่า หากสหรัฐฯ ส่งอาวุธตัวนี้ให้ยูเครนจริงจะถือว่าเป็นการล้ำเส้นอย่างร้ายแรง และรัสเซียจะตอบโต้ทันที
ทำให้เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาชี้แจงเรื่องนี้โดยระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งระบบยิงขีปนาวุธที่มีพิสัยไกลไปถึงรัสเซียให้กับยูเครน
ส่วนสถานการณ์ทางภาคใต้ของยูเครน ก็เริ่มมีการโจมตีจากรัสเซียมากขึ้นโดยเฉพาะที่เมืองมิโคลายิฟ ซึ่งเป็นเมืองด่านหน้าก่อนถึงเมืองโอเดสซาเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครนบนทะเลดำ เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก อาหารหลักหลายชนิดถูกส่งออกจากที่นี่
แม้ว่าตอนนี้ รัสเซียยังไม่สามารถยึดโอเดสซาได้ แต่รัสเซียสามารถทำให้การขนส่งสินค้าในเมืองนี้เป็นอัมพาตได้แล้ว ด้วยการนำกองเรือในทะเลดำไปปิดเส้นทางเรือที่จะเข้าออกเมืองท่านี้
ส่งผลให้ตอนนี้ยูเครนส่งออกสินค้าไม่ได้เลย แม้จะมีผลผลิตที่เกษตรกรจำนวนมากที่พยายามเก็บเกี่ยวไว้ในสภาวะสงคราม
ข้าวสาลีจำนวนมากที่เก็บเกี่ยวไว้ก่อนสงครามยังคงค้างอยู่ในโกดัง เกษตรกรจำนวนมากเดือดร้อนหนัก
นอกจากจะบีบไม่ให้มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้แล้ว มีรายงานด้วยว่ารัสเซียพยายามขโมยผลผลิตทางการเกษตรของยูเครนกลับประเทศ
สัปดาห์ที่แล้วมีเป็นภาพถ่ายดาวเทียม ที่รัสเซียกำลังขนถ่ายกระสอบ ที่คาดว่าข้างในเป็นข้าวสาลี หรือผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากขึ้นเรือที่ท่าเรือในแคว้นไครเมีย
ล่าสุดเมื่อวานนี้ มีภาพของรัสเซียกำลังขนเอาเหล็กซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของยูเครนกลับประเทศด้วย
โฆษกประจำท่าเรือได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TASS ของรัสเซียว่า กลุ่มโปรรัสเซียได้ขนเหล็กของยูเครนไปราว 2,700 ตัน และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกของรัสเซียบริเวณเมืองรอสตอฟออนดอน ซึ่งอยู่ห่างจากยูเครนไปราว 160 กิโลเมตร
นอกจากประเด็นสงครามที่กำลังดุเดือดแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจมาสักระยะนั่นคือ อาการป่วยด้วยโรคมะเร็งของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
โดยก่อนหน้านี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานคล้ายคลึงกันว่า ผู้นำรัสเซียอาจป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทำให้สุขภาพและการตัดสินใจไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อคืนที่ผ่านมา เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ออกมาปฏิเสธข่าวลือที่ผู้นำรัสเซียป่วยเป็นมะเร็งว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สำหรับสงครามยูเครนอาจจะต้องติดตามกันต่อไป ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต่างผลัดกันรุก-รับ ยังไม่มีผู้ชนะถาวรในสงครามนี้
นักวิชาการหลายฝ่ายประเมินว่า สงครามยูเครนอาจลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย