50 ประเทศ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ถึงแม้ว่าปัญหาของศรีลังกาจะมีลักษณะเฉพาะตัวคือ ความผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจของตระกูลราชปักษาแต่ความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ศรีลังกาเดินเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจล้มละลายศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้เพราะมีปัจจัยจากภายนอกเป็นแรงกระแทกเพิ่มเข้าไปด้วย อย่างแรกคือการระบาดของโควิด อย่างที่สองคือ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพงขึ้น และสุดท้ายคือ สงครามของรัสเซียในยูเครนที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานปรับสูงขึ้นอย่างมาก

ทั้งหมดนี้คือปัจจัยของหายนะที่เกิดขึ้นในศรีลังกาหลังสงครามในยูเครน ศรีลังกาคือเหยื่อรายแรกๆที่กลายเป็นประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังตกอยู่ในสภาวะของความเสี่ยงในลักษณะนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

เมื่อวาน ( 11 ก.ค.)สำนักข่าว Bloomberg ตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า “วิกฤตผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์กำลังคืบคลานเข้าสู่หมู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”

เจาะลึก “ปืนประดิษฐ์” จากคดี “อาเบะ” ปัญหาที่ไม่ว่าประเทศไหนก็แก้ไม่ได้

“ไอโฟน” สินค้าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์?

โดยมีรายชื่อ 50 ประเทศที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ประเทศที่เสี่ยงมีทั้งในลาตินอเมริกา เอเชียแปซิฟิกและ แอฟริกา

 จากกราฟิก สีแดงเข้ม คือ ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เอลซัลวาดอร์ กานา ตูนีเซีย

สีส้ม คือประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำลงมา เช่น อียิปต์ อาเจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี

ที่น่าสนใจคือ มีประเทศในอาเซียนอยู่ในรายชื่อ 50 ประเทศนี้ด้วย คือ อินโดนีเซีย ในอันดับที่ 34 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 35 มาเลเซีย  อยู่ที่ 39 และเวียดนามที่ 41

อะไรทำให้ประเทศเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

ดูจาก 4 ปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูง และมีสัดส่วนหนี้ที่กู้จากต่างประเทศเยอะ

หนี้สาธารณะคือ หนี้ที่รัฐบาลกู้ ส่วนใหญ่เพื่อนำลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาจเป็นการกู้ในประเทศหรือกู้จากต่างประเทศก็ได้

ทั้งนี้การกู้จากต่างประเทศมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะต้องแบกรับกับความผันผวนของค่าเงิน ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ประเทศที่มีหนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศสูงจึงมีความเสี่ยงสูง เช่น ในอาร์เจนตินาซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในลำดับ 7 ของประเทศที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ อาร์เจนตินามีหนี้สาธารณะ 74.4 เปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกประเทศ เช่น หนี้ไอเอ็มเอฟ

โดยเมื่อปี 2018 รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีเมาริซิโอ มากริ ลงนามกู้เงินจากไอเอ็มเอฟคิดเป็นมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการปล่อยเงินกู้จำนวนสูงที่สุดเท่าที่ไอเอ็มเอฟเคยปล่อย โดยในข้อตกลงอาเจนตินาจะแบ่งจ่ายหนี้เป็น 3 งวด โดยกำหนดงวดสุดท้ายคือปี 2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า มีแนวโน้มสูงที่อาเจนตินาจะเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้วิกฤตเศรษฐกิจซับซ้อนไปมากกว่านี้ และสภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดการประท้วง ความวุ่นวายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

การประท้วงใหญ่ในกรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันชาติอาร์เจนตินา คนจำนวนมากออกมาตามท้องถนน เรียกร้องให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายหนี้คืนไอเอ็มเอฟ

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีการรวมตัวกันของคนขับรถบรรทุก ปิดถนนหลักหลายสายของประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขราคาน้ำมันแพง

นอกจากพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้าวของต่างๆก็แพงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของอาร์เจนตินาปีนี้ จะพุ่งกว่าร้อยละ 70

สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาคือหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่อยู่ในลิสต์ 50 ประเทศที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ